อย่าลืมอ่านเรื่องโรงเรียนและโฮมสคูลที่แม่จิ๊บเขียนไว้ก่อนหน้านี้นะคะ
ตอน 1 โรงเรียนของลูก โรงเรียนของเรา โรงเรียนมีชีวิต
ตอน 2 พหุปัญญาอัจฉริยะ 9 ด้าน ไม่เก่งคำนวณ ไม่เก่งภาษา ไม่ได้หมายความว่าโง่
ตอน 3 Home School เมื่อแม่จิ๊บรู้จักโฮมสคูล สงสัยกันไหมมีด้วยหรือเรียนที่บ้านเป็นบ้านเรียน
เวลาเราเห็นรุ่นพี่คุยเรื่องโฮมสคูล เห็นเด็กๆโฮมสคูลโตกันมาแบบเรียนที่บ้านเราก็จะสงสัย เอ ถ้าเราอยากทำบ้าง เราต้องรู้เรื่องอะไร? ที่บ้านเด็กๆเหล่านั้นจัดการศึกษายังไงนะ แล้วเราก็จะต้องไปค้นข้อมูลอะไรบ้าง!!
บ้านเรียน หรือ Home School คืออะไร? ใบบทความนี้จะเป็นการเป็นงานนิดหนึ่งแต่จะจะถ่ายทอดให้เข้าใจแบบง่ายๆค่ะ
(ขอแทรกภาพวิวชื่อ “โรงเรียนไม่ใช่แค่โรงเรียนแต่โรงเรียนคือทุกที่” ตามที่พี่โจน จันได เคยพูดไว้ เพื่อลดความเป็นทางการนิดหนึ่ง เห็นคำว่า พรบ. กับ กฎกระทรวงละรู้สึกวิงเวียนกันใช่ไหม ทุกภาพเป็นภาพที่แม่จิ๊บถ่ายเองค่ะ) แม่จิ๊บคิดว่าสำหรับคนเริ่มต้นอย่างเรา ควรรู้เรื่อง พระราชบัญญัติการศึกษาฯกับกฎกระทรวง 2 อย่างนี้ก่อนค่ะ
1. “พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553” แบ่งประเภทการเรียนออกเป็น 3 ประเภท คือ เรียนในระบบ เรียนนอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ในมาตรา 17 ระบุไว้ว่า ทุกคนที่มีสัญชาติไทยจะต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับเมื่ออายุย่างเข้าปีที่ 7 จนถึง 16 ปี ซึ่งก็คือ ป.1-ม.3 รวมเวลา 9 ปีด้วยกันค่ะ ส่วนมาตรา 18 ก็ระบุไว้ว่าถ้าเราจะจัดการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน “เรียนที่บ้านเป็นบ้านเรียนก็ทำได้ด้วยนะ” ขีดเส้นใต้เอาไว้นั่นแหล่ะค่ะ
**(ปล.การศึกษาขั้นพื้นฐานคือ ปฐมวัย-ม.ปลาย)
2.พ่อแม่ที่อยากจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ลูกเอง ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะในพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ระบุในมาตรา 12 ว่าทำได้อย่างชัดเจนค่ะเราจัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ลูกเองได้ที่บ้านเรียนค่ะ (ขั้นพื้นฐานคือก่อนอุดมศึกษาทั้งหมด ได้แก่ ปฐมวัยเหล่าอนุบาลทั้งหลาย + ประถมศึกษา มัธยมต้น +มัธยมปลาย) อะไรจะดีแบบนี้เนี่ย นอกจากลูกจะได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ อบอุ่น ไม่ต้องไปเสี่ยงต่อการไม่สบาย ยังประหยัดอีกด้วย (แต่จะต้องอิงเรื่องการจัดการศึกษาให้ลูกอิงตามกฎกระทรวงด้วยนะคะ) นอกจากจัดการศึกษาให้ลูกได้เองแล้ว ดูมาตรา 10 นะคะ รัฐต้องสนับสนุนให้เราเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายด้วยค่ะ (นี่คือสาเหตุที่พอเราจดเป็นบ้านเรียนแล้วเราจึงต้องได้รับเงินอุดหนุนเสมือนเป็นโรงเรียนหนึ่งและลูกๆก็จะได้อุปกรณ์การเรียนได้อะไรๆเหมือนเด็กในโรงเรียนทุกอย่างสินะ)
3. ตามข้อ 2 ตะกี้มีอ้างถึงกฎกระทรวงด้วย อ๋อ จริงๆแล้วเรื่องกฎกระทรวงคือเรื่องของการจดทะเบียนบ้านเรียนนั่นเองค่ะ เมื่อเรารู้ระบบการศึกษาแล้ว เราเห็นแล้วว่าเราจัดการศึกษาให้ลูกแบบบ้านเรียนได้ แต่จะทำแบบไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลยก็ไม่ได้สินะ เราก็มาดูกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องยื่นจดบ้านเรียนกับเขตว่าต้องทำยังไง กฎกระทรวงแบบเต็มๆเราควรอ่านมากๆเมื่อจะต้องไปจดบ้านเรียน >> กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว
ในนี้เค้าก็อธิบายให้เราได้เข้าใจว่าการจัดการศึกษาแบบครอบครัวคืออะไร จดบ้านเรียนต้องเตรียมอะไรบ้าง มันจะมีพิจารณาด้วยว่าเราจะผ่านไหม ถ้าผ่านแล้วต้องทำอะไรต่อ แล้วเวลาประเมินเป็นยังไง รวมถึงสามารถยกเลิกการจดบ้านเรียนได้ด้วย (ถ้าเราทำไม่ได้คุณภาพเขายกเลิกเราได้นะเนี่ย)
ทีนี้ Home School คือการศึกษาในระบบตามมาตรา 15 ข้อ 1 ค่ะ
เมื่อเราพิจารณาว่าจะทำบ้านเรียน เราจึงควรอ่านเรื่องพระราชบัญญัติให้เข้าใจแล้วก็อ่านกฎกระทรวงด้วยค่ะ มันจะทำให้เรามีข้อมูลเบื้องต้นก่อน แล้วมีปัญหาอะไรค่อยไปถามพี่ๆในกลุ่มโฮมสคูลเน็ตเวิร์ค
มาทำความเข้าใจความหมายของในระบบกับนอกระบบกันค่ะ
- การศึกษาในระบบ (ข้อ 1 ในมาตรา 15 ในรูปนะคะ) ไม่ได้หมายถึงระบบโรงเรียน แต่หมายถึงการจัดการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐานก่อนอุดมศึกษา (ถ้าเปรียบให้เห็นภาพในสายสามัญให้ชัดคืออนุบาล-ม.6 ค่ะรวมเวลาทั้งสิ้น 15 ปี) และการศึกษาในระบบจะมีการเรียนช่วงชั้นละ 6 เทอม (เช่นช่วงชั้นที่ 1 คือ ป.1-ป.3 ช่วงชั้นละ 6 เทอมก็หมายถึงปีละ 2 เทอมค่ะ เอ่อ…. การศึกษานี่เค้านับเป็นช่วงชั้นแฮะเราก็เพิ่งรู้) และการศึกษาในระบบกำกับโดยสำนักงาน สพฐ. โฮมสคูลอยู่ในนี้น๊า นี่ทำโฮมสคูลก็ทำเหมือนโรงเรียนเด๊ะเลย บ้านก็เปรียบเสมือนโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง เราเป็นเจ้าของโรงเรียน “บ้านเรียนวนิษา-ภูมิภัทร” เชียวนะนี่
- การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ข้อ 2 และ 3 ในรูปนะคะ) กำกับดูแลโดย “สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย” หรือ กศน. ค่ะ การศึกษาแบบนี้จะมีการเรียนช่วงชั้นละ 4 เทอม
โดยสรุป (ตรงนี้สำคัญนะคะ)
*** บ้านเรียนที่จดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษา (ตามที่อยู่ของท่านว่าขึ้นกับเขตใด) ตามกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ.2547 จึงเป็น “การศึกษาในระบบที่จัดโดยครอบครัวและกำกับโดย สพฐ”
แล้วถ้าถามว่าการศึกษาทางเลือกคืออะไร ก็มีคำตอบให้ตามนี้เลยค่ะ
การศึกษาทางเลือกในไทย คือ การศึกษาที่เน้นการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของผู้เรียน และพัฒนาชุมชนไปพร้อมกัน เป็นทางเลือกในการจัดการศึกษาสำหรับบุคคล ครอบครัว องค์กรสังคมอื่น ที่ไม่ใช่การศึกษารูปแบบเดิม แต่เป็นการศึกษาที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ภายใต้ปรัชญาการเรียนรู้อย่างมีความสุข เข้าใจธรรมชาติ พัฒนาการและจิตวิทยาของเด็กรวมทั้งความอยากรู้ของผู้เรียน ด้วยการบูรณาการการเรียนการสอนกับเนื้อหาเข้าด้วยกันอย่างเป็นองค์รวม ที่มีลักษณะนำไปสู่การปฏิบัติ ที่สัมพันธ์กับปัญหา ชีวิตจริง ซึ่งมีการเรียนรู้ที่หลากหลาย
ประเภทของการศึกษาทางเลือก
1.การศึกษาทางเลือกที่จัดโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล ซึ่งครอบคลุมทั้งแบบครอบครัวเดี่ยว กลุ่ม และเครือข่ายครอบครัว
2. การศึกษาทางเลือกที่อิงกับระบบโรงเรียน คือโรงเรียนที่สามารถจัดหลักสูตรหรือกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากโรงเรียนตามแนวกระแสหลักทั่วไป เน้นนวัตกรรมการเรียนรู้ทดลองปฏิบัติหรือประสบการณ์
3.การศึกษาทางเลือกสายครูภูมิปัญญา เช่น พ่อครู ปราชญ์ชาวบ้านที่มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้แก่ผู้อื่น เช่น ด้านศิลปะ การช่าง ด้านเกษตรกรรม การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพร เป็นต้น
4.การศึกษาทางเลือกสายศาสนาและวิธีปฏิบัติธรรม จัดการเรียนรู้แก่สมาชิกทั้งแนวเศรษฐกิจพอเพียง ต่อต้านการบริโภคนิยม การปฏิบัติสมาธิในแนวต่างๆตามวิถีความเชื่อ
5. การศึกษาทางเลือกที่เป็นสถาบันนอกระบบรัฐ คือ กลุ่มที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของตนเอง ไม่อิงหลักสูตรรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มสิกขาลัย
6. การศึกษาทางเลือกกลุ่มการเรียนผ่านกิจกรรม ทั้งกิจกรรมชุมชน การสืบสานภูมิปัญญา การฟื้นฟูวัฒนธรรม
7.การศึกษาทางเลือกผ่านสื่อการเรียนและแหล่งเรียนรู้
(ขอบคุณข้อมูลจาก การศึกษาทางเลือก: แนวทางที่ท้าทายในยุคปฏิรูป โดย ผศ.ดร.วีรเทพ . ปทุมเจริญวัฒนา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ถ้าเราสนใจเรื่องโฮมสคูล สิ่งที่เราต้องรู้คือ
- โฮมสคูลเป็นการศึกษาในระบบที่จีัดการศึกษาโดยครอบครัวและกำกับดูแลโดย สพฐ.
- โฮมสคูลเป็นการศึกษาทางเลือกประเภทหนึ่ง
- ให้เตรียมเขียนแผนการศึกษาเพื่อไปจดทะเบียน แต่จะจดกับเขตพื้นที่การศึกษา จดกับโรงเรียนที่รับนักเรียนแบบโฮมสคูล หรือจดกับหลักสูตรต่างประเทศ ก็แล้วแต่ความสนใจ
- จะจดแผนการศึกษาให้ลูกแบบกลุ่ม 8 สาระเหมือนในโรงเรียน (พวกคณิต ไทย สังคม บลาๆ) หรือจดแบบประสบการณ์ตามที่ลูกชอบ ลูกอยากเรียนลูกถนัดก็ได้
- สาเหตุที่ต้องจดทะเบียนเพราะเราจะได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล และอุปกรณ์การเรียนเหมือนเด็กคนหนึ่งในโรงเรียน
- จะมีการประเมินลูกเราจากทั้งเราเองและจากเจ้าหน้าที่ของเขตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- กลุ่ม Home School Network คลิกไปที่นี่ https://www.facebook.com/groups/homeschoolnetwork/มีครอบครัวที่ทำโฮมสคูลมากมาย และมีกลุ่มโฮมสคูลเฉพาะเด็กแต่ละวัยด้วย พ่อแม่ในนี้ยินดีช่วยให้คำแนะนำเรา
- ถ้าเราอยากให้ลูกมีความสุขกับการเรียนรู้ ไม่ต้องแข่งขันเกินไป และได้ทำในสิ่งที่ชอบโดยไม่ต้องมีอะไรมาขัด โฮมสคูลก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
- เรียนโฮมสคูลไม่ได้เรียนแค่ที่บ้าน แต่เรียนทุกที่ มีเพื่อนทุกวัย
- งาน My Way คืองานของกลุ่มโฮมสคูลที่จะอัพเดทเรื่องราว เล่าปัญหาและปลุกปัญญา…สนุกเฮฮากันทุกปี
สรุปคือ พระราชบัญญัติการศึกษาฯ บอกว่าเด็กๆต้องเรียนภาคบังคับตั้งแต่ ป.1 – ม.3 และเราจัดการเรียนการสอนที่บ้านได้ ส่วนกฎกระทรวงก็บอกวิธีในการจดทะเบียนบ้านเรียนให้กับเรา และโฮมสคูลคือการศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาทางเลือกแบบหนึ่งที่ลูกเรียนที่บ้าน เราจดทะเบียนเพื่อจะได้รับการอุดหนุนจากรัฐและเก็บร่องรอยการเรียนรู้ของลูก อ้าว สรุปที่เขียนมาทั้งหมดใจความมีแค่ 2 บรรทัดนี่เอง ง่ายๆงี้เลยเหรอ ฮ่าๆ หลอกอ่านตั้งนาน หวังว่าจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กันนะคะ แม่จิ๊บก็ลองศึกษาดู ตัวเองไม่ได้มีข้อมูลอะไรเลย เริ่มจาก 0 เลยทีเดียว แต่อยากแบ่งปันค่ะ ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมแนะนำได้เลยนะคะ
** และขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมและคำแนะนำจากโฮมสคูลรุ่นบุกเบิก คุณโอม Vnatat Thunwimolbhute ที่กรุณาชี้แนะให้บทความถูกต้องมากขึ้นค่ะ
**follow us** เพจ : เลี้ยงลูกให้โตไปกับหนังสือ Instragram : yimwhanfamily เว็บไซต์ : www.yimwhanfamily.com Youtube : Yimwhan Family อีเมลล์ : [email protected] Line Id : @yimwhanfamily