Edit 2023 นะคะ ตอนนี้เด็กๆโตอยู่ประถมกันแล้วค่ะ
น้องภูพิงค์ 7 ขวบ น้องเวียงพิงค์ 9 ขวบ
ความคุ้มค่าในการโฮมสคูลช่วงอนุบาลคือ เราได้เรียนรู้และเติบโตใน Way ของ Homeschool เยอะมากๆเลยค่ะ
อย่างเช่นในภาพ การเลี้ยงไก่ หาเงินด้วยตัวเอง และซื้อของที่อยากได้ ก็เป็นหน่วยการเรียนในแผนได้ค่ะ
ตอนนี้ประถมเด็กๆเข้าโรงเรียนทางเลือกแล้วค่ะ (บทความต่อไปแม่จะมาเล่าเรื่องการเข้าเรียนประถมของเด็กๆให้ฟังนะคะ)
ข้อมูลต่อไปนี้เป็นช่วงที่แม่จิ๊บทำโฮมสคูลให้ลูกในช่วงอนุบาล และค้นพบว่ามีข้อดีหลายอย่างมากๆค่ะ
ลองใช้ข้อมูลนี้ในการประกอบการตัดสินใจหรือพิจารณาทำโฮมสคูลนะคะ
—-
ทำไมแม่จิ๊บจึงแนะนำว่า…ควรทำโฮมสคูลระดับปฐมวัย 0-6 ขวบ??
สวัสดีค่ะ วันนี้อยากแชร์หัวข้อการทำโฮมสคูลในระดับปฐมวัยค่ะ ปฐมวัย 0-6 ขวบ คือช่วงก่อนการศึกษาภาคบังคับนั่นเองค่ะ ทำไมแม่จิ๊บถึงคิดว่า “ปฐมวัย” เหมาะแก่การทำโฮมสคูลที่สุด
ปล.บทความนี้ไม่มีวิชาการ แม่เขียนจากทัศนคติส่วนตัวและประสบการณ์ล้วนๆนะคะ
1.เด็กอยู่ในวัยเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็นเป็นวัยทองของการเรียนรู้
เริ่มจากวัยเบบี๋และวัยเตาะแตะ มีพัฒนาการตามวัย เด็กวัยนี้จะอยากรู้อยากเห็น มีความสงสัย และเก็บข้อมูลเข้าคลังสมองอย่างรวดเร็ว การได้เรียนรู้ตลอดเวลา การที่ได้อยู่กับเราตลอด 24 ชั่วโมง จึงเป็นการตอบสนองความต้องการพื้นฐานลูก กินอิ่ม นอนอุ่น เรียกเราเมื่อไหร่เราก็มา “เด็กจะรู้สึกปลอดภัยและสร้างความมั่นคงในจิตใจให้ไปจนโต” เคยได้ยินไหมคะ ระหว่างอายุ 0-3 ขวบ เด็กจะฟอร์มนิสัยบางอย่างขึ้นมา และเป็นนิสัยที่จะติดตัวไปจนโต เวลานี้เราจึงกอดให้เยอะหอมให้มากค่ะ เป็นเวลาที่เหมาะที่สุดแล้วที่จะได้เรียนตลอดเวลา เคยมีสุภาษิตจากหนังสือ “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” ของ อ.คิมรันโด กล่าวว่า “นิสัยตอน 3 ขวบ จะติดตัวไปจนถึงอายุ 80 ปี” ช่วงวัยนี้จึงเหมาะมากที่จะเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้เติบโตค่ะ
2.เป็นวัยที่กำลังต้องการความรักความอบอุ่นความใส่ใจเลี้ยงดูอย่างเต็มที่
“อบรมเลี้ยงดู ควบคู่กับการให้การศึกษา” คือข้อ 6 ของหลักสูตรปฐมวัยปี 2560 (ขอบคุณข้อมูลภาพสื่อจาก คุณชนิกานต์ เรือนแก้ว ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.เชียงใหม่ เขต 2) การทำโฮมสคูลนั้น ตั้งแต่ข้อ 1-6 ถือว่าเป็นข้อที่โฮมสคูลทำได้อย่างโดดเด่น แต่ข้อ 6 จะเด่นเป็นพิเศษค่ะ ซึ่งเด็กๆที่เรียนแบบโฮมสคูลจะมีเวลาได้อยู่กับผู้ปกครองและได้รับความใกล้ชิดในสัดส่วนที่มากกว่าเด็กที่ไปโรงเรียน เราได้สอนลูก กอดลูก บอกลูก เรียนรู้ไปกับลูก เรียกได้ว่าอยู่กับลูกตลอดเวลา พอพ้นปฐมวัยไปเป็นวัยประถมเค้าจะเริ่มห่างเราแล้วน๊า
3.ลดการเจ็บไข้ได้ป่วย
เด็กเล็กเป็นวัยที่กำลังอยู่ในช่วงการสร้างภูมิคุ้มกัน แม่จิ๊บเคยถามอาจารย์พยาบาลว่าเมื่อไหร่เด็กจะไม่ค่อยป่วย อาจารย์บอกว่าหลัง 12 ขวบค่ะ เพราะช่วง 0-12 ขวบ เด็กจะรับเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกัน เด็กมักป่วยง่าย และเชื้อโรคมักติดต่อง่ายด้วยสิ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เป็นต้น การที่เด็กต้องไปอยู่รวมกัน ทั้งลูกเราเอาความป่วยไข้ไปให้เพื่อน ทั้งเพื่อนเอามาให้ลูก แล้วเวลาเด็กเล็กป่วย หัวอกของแม่พ่อแทบขาด อยากเจ็บแทนลูก เคาะปอด ดูดเสลด เจาะเต่า ไอไม่หยุด แม่จิ๊บรู้ซึ้งในความทรมานในจิตใจข้อนี้ดีค่ะเพราะลูกเคยเป็นแบบนี้มาก่อน โรงเรียนดูแลความสะอาดดีแสนดี แต่ลูกไวต่อการติดไข้ติดหวัดมากค่ะ ปีใหม่ 2018 คือปีที่โหดร้ายกับเรามากๆ “ลูกป่วยกันทั้งเดือน คนละ 3 รอบ พี่หายน้องเป็นต่อ น้องหายพี่ก็รับช่วงต่อ วนแบบนี้ตลอดเดือนมกรา พยายามคิดบวกแต่สงสารลูกจนทนไม่ไหว ต้องระบายด้วยการไปร้องไห้กับสามี อัดอั้นตันใจที่สุด” แต่พอหยุดไปโรงเรียนนี่ก็เกือบ 4 เดือนแล้วที่ลูกไม่ป่วยเลย มันดีต่อใจเหลือเกิน เราไม่กังวลเรื่องพาลูกไปโรงพยาบาลหรือคุณหมอเลยค่ะ เพราะคุณหมอประจำตัวน้องทั้งสองคนรักษาดีมาก ดูแลลูกเราเอาใจใส่มากๆ แต่สิ่งที่เราทนไม่ไหวคือ “เราสงสารลูกมาก” การป่วยที่ลดลงชัดเจนขนาดนี้ แล้วเรายังต้องรออะไร ดีต่อลูก ดีต่อเรา ดีต่อเด็กๆคนอื่นๆ
4.เป็นวัยที่อยู่ในการค้นพบตัวเองโดยไม่มีข้อแม้ โฮมสคูลสามารถพาลูกออกเดินทางท่องเที่ยวได้ไม่ต้องกังวลเรื่องเวลา
หลายครั้งที่เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ลูกเราจะชอบอะไรนะ? ลูกเราจะโตมาแบบไหน? เราแค่อยากให้ลูกเรียนรู้อย่างมีความสุข แต่ในใจลึกๆก็แอบลุ้นว่าลูกจะชอบอะไร? เป็นแบบไหน? ใช่ไหมคะ? ยิ่งพ่อแม่มือใหม่นี่ตื่นเต้นตลอดเวลาของการเติบโตของลูก วัยนี้จึงเป็นวัยเรียน วัยลอง วัยรู้ค่ะ แต่ไม่ใช่การลองอย่างจับฉ่าย เป็นการลองจากการสังเกตความชอบของลูก และคอยส่งเสริมเค้า ถ้าเราไม่คอยสังเกตไม่มีเวลาดูลูก เราอาจจะพลาดการได้พัฒนาศักยภาพลูกในวัยทองของการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดายก็ได้ค่ะ ส่วนอีกเรื่องคือการพาลูกท่องเที่ยว หนูชอบมากค่ะ หนูสนุกมากค่ะ หนูอยากไปอีก ไปได้ทุกหน้าทุกเทศกาล วันธรรมดาคนน้อยก็เที่ยวได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องลาโรงเรียน (ถ้าทำโฮมสคูล เวลาลูกไปเที่ยวก็เอาสิ่งที่เค้าเรียนรู้มาเทียบว่าเข้ากับสาระการเรียนรู้ข้อไหน มาตรฐานไหน ตัวชี้วัดใด เก็บร่องรอยการเรียนรู้สบายไปอีกค่ะ)
5. ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกพี่เลี้ยงใจร้ายตบตี
รู้ไหมคะ แม่จิ๊บเคยเจอประสบการณ์จากคนใกล้ชิดในครอบครัวเลย ไปโรงเรียน แต่น้องจะอิดออด ไม่อยากไป ร้องไห้ อยากเข้าห้องน้ำบ้าง แกล้งหิวนั่นนี่บ้าง จริงๆคือๆไม่อยากขึ้นรถไปโรงเรียน เพราะวันหนึ่งความจริงมันปรากฎ “น้องถูกทำร้าย” ค่ะ ถูกตบหัวจนหน้าทิ่มฟันหลุดไปสองซี่ สอบถามเรื่องราวไปมากลายเป็นว่า เจ้าของเนอสเซอร์รี่ให้ลูกชายมาดูเด็ก พอไม่พอใจเด็กอาจมีร้องไห้ตามประสา ตบหัวทิ่มฟันหลุดแล้วบอกกับพ่อแม่ว่าเด็กวิ่งชนกัน ……สุดท้ายเจอกันสถานีตำรวจ แต่ทุกวันนี้ก็ยังเห็นเปิดอยู่นะ หรืออีกหลายๆข่าวที่เราเคยเห็น ปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะ ว่าในประเทศของเรา ยังมีสถานเลี้ยงเด็กแบบนี้อยู่แน่ๆ แล้วเราต้องไปเสี่ยงแบบนี้ทำไม “ลูกคือแก้วตาดวงใจ” ถ้าเลี้ยงเองได้ เลี้ยงเองเถิดนะคะ (ถ้าจำเป็นต้องเข้าเนอร์สก็เลือกให้รอบคอบจะเป็นการดีค่ะ)
6.การเขียนหลักสูตรหรือแผนการศึกษาของโฮมสคูลในระดับนี้ไม่ยาก/การประเมินของการศึกษาโฮมสคูลระดับปฐมวัยใช้ตัวบ่งชี้ไม่มีคะแนน
สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น ขอแค่หนูๆเรียนรู้ทั้ง 4 ด้าน 1.ด้านร่างกาย 2.ด้านอารมณ์จิตใจ 3.ด้านสังคม และ 4.ด้านสติปัญญา ก็พอแล้วค่ะ สำหรับวัยนี้ ขอให้หนู “เป็น “คนดีมีวินัย” รู้จักช่วยเหลือตัวเองในทักษะชีวิตกิจวัตรประจำวันก็พอแล้ว ส่วนการประเมิน วิธีการสุดน่ารักใช้วิธีประเมินตาม “ตัวบ่งชี้” ค่ะ เอา 4 ข้อข้างบนมาตั้ง (12 มาตรฐาน 29 ตัวบ่งชี้ มีอะไรบ้างไว้คุยครั้งต่อไปนะคะ) ตั้งคุณลักษณะที่พึงประสงค์แล้วประเมิน ปรับปรุง พอใช้ ดี (ไม่มีการให้ระดับคะแนนหรือที่ 1 ที่ 2 ไปกดดันเด็กแต่อย่างใด) พ่อแม่เขียนแผนตามหลักสูตรปฐมวัย 2560 เขียนให้ครบ 12 มาตรฐาน อยากเพิ่มอะไรก็ใส่เพิ่มได้ในตัวบ่งชี้ หรือจะเลือกเขียนแบบประสบการณ์ดันลูกให้จีเนียสด้านใดด้านหนึ่งตามความชอบลูกก็มีโอกาสทำได้มากทีเดียวค่ะ แล้วถ้าอยากเพิ่มความสามารถพิเศษของลูก คุณพ่อคุณแม่ก็เพิ่มใน “ความสามารถพิเศษด้านพหุปัญญา” ได้เลย ถ้าอยากรู้ว่าพหุปัญญาคืออะไร วัดว่าลูกโดดเด่นเรื่องอะไร แม่จิ๊บสอนไว้ในคอร์ส Homeschool Plus ค่ะ คลิก คอร์สโฮมสคูลพลัส
- หมายเหตุ ระดับปฐมวัย ใช้ตัวบ่งชี้/ ระดับประถม-มัธยม ใช้ตัวชี้วัดมีการสอบ มีคะแนนและเทียบกับเกณฑ์
7. ได้เก็บเงินค่าเทอมไว้ทำกิจกรรมและได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ
ค่าใช้จ่ายเด็กเล็กสูงมากๆค่ะ เราทำโฮมสคูลให้ลูกในระดับปฐมวัย สามารถเก็บตังค์ไว้ทำกิจกรรมอย่างอื่นๆ ไม่ต้องเครียดเรื่องค่าเทอม ค่าชุดนักเรียน ค่าเดินทาง หลายๆค่า แต่เรามีโอกาสเก็บเงินพาลูกไปเที่ยว ซื้อหนังสือดีๆให้ลูก ไปเรียนรู้กิจกรรมที่ลูกสนใจ แล้วเรายังได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลด้วยค่ะ (ในกรณีที่เราจดบ้านเรียนกับเขตพื้นที่การศึกษานะคะ ถ้าเราจดใต้ร่มโรงเรียนเงินส่วนนี้ก็จะเข้าที่โรงเรียนค่ะ) แต่ปัญหาเรื่องการได้รับเงินอุดหนุนช้าก็มีให้เห็นบ้างประปราย
8. Edit เพิ่ม 2023 ได้ทักษะการเป็นนักเรียนรู้ Self Directed Learner
การศึกษากับการเรียนรู้ต่างกันนะคะ แม่จิ๊บคิดว่าการฝึกให้ “ลูกรู้จักเรียนรู้ด้วยตัวเอง” นั้นสำคัญมากๆ เพราะมันมาจากแรงขับเคลื่อนภายใน คืออยากทำเอง อยากรู้เอง ซึ่งเป็นทักษะที่เราต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก คอยถาม ชวนเรียนรู้ ชวนหาคำตอบ บ้านเราได้ทักษะนี้มาเยอะมากค่ะ การเก็บร่องรอยและทำประเมินให้ลูกในช่วงอนุบาลคือช่วงใจฟูมาก (แม้จะเหนื่อยสุดๆก็ตาม) แม่จิ๊บเห็นลูกเอาเล่มรายงานที่มีรูปเค้ากับคำบรรยายที่แม่ทำให้ช่วงอนุบาล เค้าหยิบมาอ่านวันนี้ ในวันที่เค้า 9 ขวบคืออ่านออกแล้ว มันใจฟูมากๆ เราพาลูกทำกิจกรรมและเอาใจใส่ลูกมากขนาดนี้ เพราะโฮมสคูล เราคือผู้จัดการศึกษา เป็นการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เราต้องมีความรับผิดชอบเรื่องการศึกษามากขึ้นเยอะเลย เราเลยติดนิสัยหาแหล่งเรียนรู้ ชอบถามลูกว่าอยากเรียนอะไร พาเค้าไป แล้วถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอมาประเมิน กลายเป็นนิสัยโดยไม่รู้ตัวค่ะ
9. Edit เพิ่ม 2023 แม่จิ๊บเจอคุณค่าและความหมายในชีวิตตัวเองมากๆ
ท้ายสุด เมื่อเลี้ยงลูกและเติบโตมาสักระยะ แม่ก็ติดเป็นนักเรียนรู้ไปกับลูกไปโดยปริยาย
อยู่มาวันหนึ่ง เรานอนกอดกัน แล้วลูกก็พูดว่า “หนูมีความสุขมาก หนูอยากเป็นลูกแม่ทุกชีวิตเลย หนูมีอะไรหนูก็คุยกับแม่ได้ หนูขอบคุณแม่มากเลย”
ไอ้ที่เหนื่อย หมดแรง ล้าๆ พอได้ฟังนะ รู้สึกใจฟูมาก เพราะแม่จิ๊บเคยอ่านงานวิจัยความสุข ของฮาร์วาด ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ยาวนานที่สุด
เค้าค้นหาว่าอะไรทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีและมีความสุข ก็ค้นพบว่า ไม่ใช่เงินทองหรือชื่อเสียง แต่คือ “ความสัมพันธ์ที่ดี”
ใช่ค่ะ อยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก จะได้คุยกันปรึกษากันเม้าท์มอยได้จนลูกโต
“อยากเลี้ยงลูกและทุ่มเทให้เค้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้” พร้อมกับค้นหาชีวิตแบบแม่ที่ “สวย รวย(ความสุข) เงียบ เรียบง่าย” ก็พอค่ะ
=====
**** ถ้าเราทำโฮมสคูลไม่ได้ ไม่ต้องเครัียด ขอแค่เราให้ลูกเรียนรู้อย่างมีความสุขเท่านี้ก็ดีมากแล้ว การเลี้ยงลูกมีปัจจัยหลายอย่างขอให้พิจารณาตามความเหมาะสมนะคะ
วิถีโฮมสคูล แนะนำว่ามันเป็นอีกทางเลือกของการศึกษาอีกแบบหนึ่งที่เหมาะสมกับเราค่ะ แต่เราจะไม่ไปตัดสินชีวิตคนอื่นหรือครอบครัวคนอื่นเด็ดขาด เพราะเหตุและปัจจัยรวมถึงข้อแตกต่างแต่ละบ้านนั้นไม่เหมือนกันค่ะ “วิถีไหนที่เรามีความสุขให้ยึดวิถีนั้นและทำมันให้ดีที่สุด” และแนะนำเหลือเกินว่าถ้าจะโฮมสคูล “ควรมีผู้ปกครองสักคนดูแลลูกเป็นหลัก” หรือถ้าลูกแข็งแรงดี แฮปปี้กับโรงเรียน โรงเรียนคุณภาพอยู่ใกล้บ้าน เรามีกำลังจ่าย เนอสเซอรี่ที่ลูกอยู่ก็มีการเรียนการสอนการเล่นสนุกสนาน ก็เลือกที่ลูกชอบได้เลย เราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตลูก แต่ในวัยที่ลูกยังต้องการการดูแล เราก็ขอทำหน้าที่นี้ ดังนั้น พิจารณาตามความเหมาะสม มีคนทักมาขอคำแนะนำจากแม่จิ๊บให้คำแนะนำในเพจ https://www.facebook.com/yimwhanfamily2016/ เยอะเลยค่ะ แต่แม่จิ๊บมีกฏเหล็กข้อหนึ่งที่เราจะไม่ทำคือ “การตัดสินใจแทนคนอื่น” นั่นเองค่ะ
เป็นแค่แม่มนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆ ทำไมถึงอาจหาญมาแนะนำให้ทำโฮมสคูลให้ลูกวัยปฐมวัย?……
ตอบไม่ยากเลยค่ะ เพราะเราเห็นตัวอย่างความเจ็บป่วยของลูกเรา วัย 3.11 ขวบ กับ 1.7 ขวบ นี่แหล่ะค่ะ ลูกคือสิ่งที่เรารักและสำคัญกับเรามากที่สุด เป็นแก้วตาดวงใจ และคิดว่าพ่อแม่ครอบครัวอื่นๆก็คงรู้สึกเหมือนเราเช่นกัน หลายคนที่กำลังค้นหาหนทางที่เหมาะกับตัวเอง บางคนอาจไม่รู้ว่ามันมีตัวเลือกอีกนะ ถ้าเราเลือกสิ่งที่เหมาะกับครอบครัว ก็จะมีเส้นทางการเติบโตอย่างสุขใจ ทำให้ชีวิตมีคุณภาพมากขึ้น
แต่การที่ทำโฮมสคูลไม่ใช่สูตรสำเร็จ ทุกครั้งที่มีคนชมว่า ห๊าทำโฮมสคูลหรอ เก่งมากเลยที่ลุกมาทำให้ลูก!!! แม่จิ๊บอยากบอกว่า ทุกคนมีความยอดเยี่ยมในทางตัวเอง ขอให้เปิดรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ พ่อแม่ที่ทำโฮมให้ลูกก็ไม่ได้วิเศษหรือมหัศจรรย์ไปจากพ่อแม่ที่อ่านอยู่ตรงนี้ เพราะเราต่างมีทางเลือกของตัวเองในบริบทที่แตกต่างกัน “เราต่างยอดเยี่ยมและมหัศจรรย์ในแบบของเรา”
ตักส่วนดีของโฮมสคูลไปปรับใช้นะคะ ถ้าไม่ได้ทำ ก็ไม่ใช่ความล้มเหลว หรือเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีพอ เราเลือกทางที่สบายใจ แล้วประยุกต์ใช้ การยึดติดเกินไปในทางใดทางหนึ่ง ก็อาจทำให้ทุกข์ได้ เราจึงอยากแบ่งปันตรงนี้ค่ะ ในศตวรรษนี้..ทิิศทางการศึกษาของโลกมันเปลี่ยนไปแล้วนะคะ
**follow us** เพจ : เลี้ยงลูกให้โตไปกับหนังสือ Instragram : yimwhanfamily เว็บไซต์ : www.yimwhanfamily.com Youtube : Yimwhan Family อีเมลล์ : [email protected] Line Id : @yimwhanfamily