{Homeschool EP.10} จัดตารางเรียนลูก ทริคเก็บร่องรอยการเรียนรู้ และสรุปประเมินผล ทำ SAR บ้านเรียนวนิษา |Yimwhanfamily|
EP นี้แม่จิ๊บจะรวมไว้ 3 เรื่องเลยนะคะ
1.แม่จิ๊บจัดตารางเรียนลูก Homeschool ระดับปฐมวัยยังไง
2. เก็บร่องรอยการเรียนรู้ลูกยังไง (ร่องรอยการเรียนรู้คืออะไรก็ตามที่เราคิดว่าลูกได้เรียนรู้ เราเก็บหลักฐานไว้ทำรายงานตอนสิ้นปีค่ะ)
3. การสรุปประเมินผล หรือการทำ SAR รายงานการประเมินตนเองตามมาตรฐานการศึกษาปฐมวัยใน 1 เล่มมีอะไรบ้าง
1.จัดตารางเรียนลูก Homeschool ระดับปฐมวัยยังไง
ตอนแรกๆที่ทำบ้านเรียนก็หาตารางเรียนให้ลูกเหมือนกันค่ะ ด้วยความที่ลูกเคยเข้าเตรียมอนุบาลมาก่อน ก็เลยมีตารางโรงเรียนทางเลือกของลูกคร่าวๆที่สามารถนำมาเป็นตุ๊กตาให้บ้านเราทำตามได้ แต่ถึงเวลาทำจริงๆ “เราทำตามตารางไม่ได้ค่ะ” มันกดดันเราและลูกเกินไป สำหรับบ้านแม่จิ๊บตารางของลูกเลยไม่มีอะไรเป็นตารางตายตัว (ขอให้กินอิ่มนอนอุ่นไว้ก่อน) แต่จะเน้นเรียนรู้ไปกับวิถีชีวิตพ่อแม่นี่แหล่ะค่ะ แม่จิ๊บแค่วางคร่าวๆ เด็กๆก็เล่นที่บ้านปกติ ไม่มีตารางพิเศษอะไร แต่จะมีกิจกรรมเสริมให้ลูกช่วงวันหยุดงานของแม่ (แม่ทำงานประจำ ลูกอยู่กับพ่อและปู่ย่าเป็นหลัก) คือเรียนว่ายน้ำ กับบัลเลต์ ตามที่เด็กๆร้องขอมา (ทุกวันเสาร์หรืออาทิตย์) และพอลูกเริ่มโตปีนี้ก็เริ่มสอนโฟนิกส์หลังจากแม่กลับบ้านช่วงเย็นหลังเลิกงาน
และวันหยุดแม่จิ๊บพยายามพาไปจอยกิจกรรมข้างนอกค่ะ เช่น ดูพิพิธภัณฑ์ ดูสวนสัตว์ เที่ยว กินข้าว ไปหาเพื่อนกลุ่มโฮมสคูลหรือเพื่อนๆหลากหลาย (ลูกเพื่อนๆของพ่อแม่นั่นแหล่ะค่ะ) ไปร้านอาหารที่มีกิจกรรมเด็กเช่น จินเจอร์ฟาร์มเชียงใหม่ เด็กๆชอบมาก
อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นปฐมวัย กิจกรรมเลยเน้นง่ายๆ สะดวกกับชีวิต
เราตกผลึกในปีแรกของการทำบ้านเรียนแบบเราว่า
#ทำบ้านเรียน คือการปรับตัวให้การเรียนของลูกสอดคล้องกับวิถีชีวิตของบ้านเรา
ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป เจอกันตรงกลาง ให้ชีวิตมันเดินไปได้ ทั้งอาชีพพ่อแม่ การงาน การเงิน การเรียนรู้ของลูกและสมาชิกในบ้าน ไม่งั้น “เครียด”
เราจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเล่นและเรียนรู้ของลูกหลักๆ 2 ที่
- ในบ้าน มีมุมหนังสือให้เลือกอ่านได้มากมาย อยากอ่านก็อ่าน อยากเล่นก็เล่น แม่ทำเป็น Library at Home ไว้ค่ะ มุมนี้เป็นประโยชน์มากๆ หลังๆแทบไม่ได้พาลูกอ่านเท่าไหร่ ลูกเดินมาหยิบดูเอง จัดที่นั่งที่อยู่ให้โปร่งโล่งน่านั่ง แสงสว่างให้เพียงพอ อ่านแล้วฝึกเก็บ พี่อ่านให้น้องฟัง มุมนี้เป็นมุมที่สมาชิกในบ้านมานั่งด้วยกันบ่อยสุดค่ะ
2. นอกบ้าน มีทรายให้เล่นมีแปลงผักให้ปลูก มีกองดินให้เด็กๆได้สัมผัสธรรมชาติ วันไหนเพื่อนมาก็เล่นกันในนี้ เป็น playgroup ค่ำๆเด็กๆชอบมาขลุกตรงนี้ เป็นโรงเรียนในโรงเรือน ดีงามมากค่ะ โรงเรือนที่พ่อตั้งใจจะทำเพื่อปลูกผัก สุดท้ายกลายเป็นที่ให้เด็กๆเล่น ปลูกผัก ปลูกหญ้า ตากผ้าได้ด้วย 55
ทุกเย็นลูกวิ่งไปเล่นในโรงเรือน พ่อแม่ดูห่างๆ แต่ละคนก็มีโลกส่วนตัวของตัวเอง เล่นด้วยกันบ้าง ทะเลาะกัน ตีกัน สุดท้ายก็ยังเล่นกันได้เหมือนเดิม เด็กหนอเด็ก
แม่จิ๊บเตือนตัวเองทุกวัน อย่าคาดหวัง อย่าเปรียบเทียบ อย่าเครียด เพราะ 3 สิ่งมันจะมาพร้อมความทุกข์ ทำไปตามวิถีของลูกนี่แหล่ะ จริงๆแล้วเรานี่แหล่ะ ควรเรียนรู้และโตไปกับลูก เด็กเค้ามีทางของเค้าอยู่แล้ว เค้ามีความสุข ไม่ค่อยเจ็บป่วย เค้าเรียนรู้ทุกวัน พ่อแม่อย่างเรานี่แหล่ะสำคัญ สร้างความเครียดให้ลูกโดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วก็กลับมาเครียดเองเฉยเลย
ชีวิตลูก ไม่ใช่ชีวิตเรา .. ให้เค้าค่อยๆเติบโต ไม่ต้องจดจ่อรอคอย แต่ให้ค่อยก้าว เดินช้าๆ จังหวะชีวิตเค้าจะเติบโตในแบบของเค้าเอง
แม่จิ๊บอยากแชร์ว่าการจัดสภาพแวดล้อมแบบนี้มันดีมากค่ะ เด็กๆไปอ่านหนังสือ เล่นมุมหนังสือ พอตกเย็นเค้าจะชวนกันออกไปเล่นทรายอัตโนมัติเลย (เป็นโรงเรือนปลูกผักของพ่อเลยไม่มียุงรบกวนค่ะ) ทุกเย็นจะทำอาหารกันสนุกสนาน ก็ตักทรายนั่นแหล่ะ มาทำก๋วยเตี๋ยวบ้าง ส้มตำบ้าง วิ่งมาถามแม่ตลอดจะรับเมนูอะไรดี แม่นี่อิ่มทุกวันค่ะ อิ่มจินตนาการ 55
***** สำหรับเพื่อนๆที่อยากได้ตารางของโรงเรียนต้นกล้า(โรงเรียนทางเลือกที่เชียงใหม่) ที่น้องพิงค์เคยเข้าเตรียมอนุบาลเป็นแนวทางนะคะ
2. เก็บร่องรอยการเรียนรู้ลูกยังไง (ร่องรอยการเรียนรู้คืออะไรก็ตามที่เราคิดว่าลูกได้เรียนรู้ เราเก็บหลักฐานไว้ทำรายงานตอนสิ้นปีค่ะ)
ตอนแรกแม่จิ๊บจะใช้ตารางทำเป็นกิจลักษณะและเซฟรูปเป็นโฟลเดอร์แล้วพอสิ้นปีเราค่อยมารวบรวม แต่เผอิญเวลาแม่จิ๊บรวมผลงานตัวเอง เช่นไปบรรยาย เป็นวิทยากร หรือทำอีเว้นท์ ก็ทำเป็นอัลบั้มและโพสในเฟสบุ๊คอยู่แล้วเพื่อเอาไปทำสรุปสิ้นปี เวลาทำ TOR เพื่อประเมินผลของที่ทำงานจะง่ายมากค่ะ เลยอแด็ปใช้กะการเก็บร่องรอยการเรียนรู้ลูกบ้าง พบว่าวิธีนี้เวิร์คมากๆค่ะเพราะ
- มีวัน เดือน ปี ให้เราแบบอัตโนมัติ แต่ถ้าเราอยากใส่เองก็ใส่ไว้ใต้โพสได้เลย
- กิจกรรมเรียงตามเวลา เวลาเรากลับไปเก็บร่องรอยก็ให้เปิดอัลบั้มนี้แล้วดูแบบ “มุมมองฟีด” หรือ “มุมมองกริด” ภาพจะเรียงให้เราเป็นระเบียบเลยค่ะ พร้อมอธิบายในแคปชั่นเรียบร้อย
- ภาพถูกลดไซส์อัตโนมัติ อันนี้เป็นข้อดีค่ะ เวลาเราทำรายงาน เราก็โหลดภาพจากตรงนี้ไปใช้ ซึ่งภาพมันจะถูกลดขนาดเรียบร้อยโดยที่เราไม่ต้องไปเสียเวลารีไซส์อีก (ถ้าไม่รีไซส์ เพื่อนๆใส่ภาพลงในเวิร์ด ไฟล์ภาพใหญ่ คอมจะอืดค่ะ)
- ถ้าอยากได้ความส่วนตัว ไม่อยากเผยแพร่ให้เพื่อนดูด้วยก็ตั้งค่าไว้แบบ “เฉพาะฉัน” ค่ะ เอาไว้เก็บข้อมูลหรือจะเปิดเฉพาะเพื่อนเพื่อให้ญาติพี่น้อง เพื่อนเห็นด้วยก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้เปิดสาธารณะนะคะ
3. การสรุปประเมินผล หรือการทำ SAR รายงานการประเมินตนเองตามมาตรฐานการศึกษาปฐมวัยใน 1 เล่มมีอะไรบ้าง
อันดับแรกคือการประเมินผลบ้านเรียน พ่อแม่จะประเมินร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษาที่เราสังกัดค่ะ การทำ SAR ในที่นี้คือการประเมินในฝั่งของพ่อแม่
และในส่วนของ SAR หรือแบบประเมินผลของลูกจะใช้แบบเดียวกันทุกระดับค่ะ แต่ในรายละเอียดก็จะมีอะไรต่างกันตามแผนการเรียนที่เราเคยยื่นกับเขต
แต่มีข้อสังเกตคือ *****ระดับอนุบาลไม่ได้จัดการเรียนออกเป็นแบบกลุ่ม 8 สาระ
แต่ประเมินโดยพิจารณาทักษะ 4 ทักษะ คือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา (และเพิ่มเติมคือสิ่งที่เราเขียนเพิ่มไปว่าจะให้ลูกได้เรียนรู้ตามความชอบ)
ดังนั้นท่านที่ประเมินลูกในระดับอนุบาลจึงควรประยุกต์ SAR เฉพาะในส่วนที่เราต้องใช้ ส่วนระดับประถม-มัธยม ท่านก็ใช้แบบ 8 กลุ่มสาระหรือเพิ่มเติมตามกลุ่มประสบการณ์ได้เลยค่ะ อาจยังไม่เห็นภาพ ดูกันตามบทความนี้ได้เลยค่ะ
ตัวอย่างการเขียนสรุปประเมินระดับอนุบาลนะคะ
- ปกของ SAR แม่จิ๊บหารูปลูกที่ชอบใส่เป็นปก
2. ในส่วนของ SAR จะมีทั้งหมด 4 ส่วนค่ะ
3. สารบัญภายในมีอะไบ้าง
4. ข้อนี้เราประเมินโดยอิงแผนที่เราเคยเสนอ ทักษะที่เด็กอนุบาลควรจะทำได้ พูดง่ายๆคือเราบอกไว้ว่าลูกจะทำอะไรได้บ้าง ลูกเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน เราเก็บร่องรอยลูกไว้ แล้วมาให้คะแนนตรงนี้ ซึ่งอนุบาลจะมีแค่ ผ่าน ไม่ผ่าน จะต่างจากระดับประถม (ประถมต้องให้คะแนน)
5. ส่วนข้อนี้มันเป็นส่วนเพิ่มเติมจากแผนของเด็กอนุบาลปกติ คือโฟกัสที่ลูกเราเข้ามาอีก ว่าถ้าลูกเราเรียนรู้ เขาชอบอะไรพิเศษ เราก็เขียนไว้ตอนยื่นแผน แล้วพอประเมินเราก็ให้คะแนนไป
6. แล้วสรุปเราก็ให้คะแนนค่ะ จะเห็นว่าตรงให้คะแนนเด็กปฐมวัย (อนุบาล 1-3 ) ก็จะมีตั้งแต่ ปรับปรุง/พอใช้/ดี เราก็ให้คะแนนไป
7. ปิดท้ายด้วยภาคผนวก ก็ใช้รูปที่เรารวบรวมมาใส่ไว้ในนี้ (จริงๆควรเขียนไปว่าเค้าได้เรียนรู้ด้านไหน ใน 4 ด้านของเด็กปฐมวัย แต่แม่จิ๊บใส่รวมกันไว้ด้านท้ายเล่มเลยค่ะ)
8. นอกจากนี้ลูกเราทำกิจกรรมอะไรเพิ่มเติม เราก็ใส่เพิ่มไว้ค่ะ (แม่จิ๊บบอกทริคในการเก็บข้อมูลไว้เป็นอัลบั้มในเฟสบุ๊ค ข้อมูลอยู่ด้านบนค่ะ)
ใส่รูปไปเรื่อยๆสุดท้ายได้ 53 หน้า เพิ่งได้เห็น โอ้โห เราพาลูกทำกิจกรรมเยอะ สนุก ได้เรียนรู้มากมายเลย ให้คะแนนแบบไม่ลำเอียง ก็ผ่านตามระเบียบ อนุบาลทำได้เท่านี้ แม่ดีใจแล้ว ลุกแฮปปี้มีความสุข
และนี่คือเคล็ดลับทั้งหมดตั้งแต่การทำบ้านเรียนเริ่มแรก ไปจนถึงการประเมินผลค่ะ (ส่วนของประถมให้เพื่อนๆทำตามขั้นตอน SAR ในไฟล์รวมที่เค้าส่งให้น๊า)
เราเดินทางกับ Homeschool มา 1 ปีเต็ม จึงเขียนบทความลงทุกขั้นตอน
แม่จิ๊บจึงมีไฟล์ครบทุกตอนแจกเพื่อนๆแล้ว เย้!!!
เพื่อนท่านไหนอยากได้ไฟล์ทั้งหมด (ที่แม่จิ๊บเอาข้อมูลส่วนตัวลูกออกไปแล้ว) พร้อมแบบฟอร์ม SAR ที่ใช้ทุกระดับ (เป็นแนวทางนะ บางเขตอาจไม่ได้ใช้แบบนี้ แต่แนวทางเหมือนกันค่ะ)
ส่งไลน์แจ้งอีเมลล์ท่านมาที่นี่นะคะ Line id : @yimwhanfamily
ขอบคุณที่ตามอ่านน๊า และขอบคุณตัวเองที่ยอดเยี่ยม พยายาม อดทน เรียนรู้(กับลูกกับรุ่นพี่) และแบ่งปัน คลำทางถูกๆผิดๆมาตั้งนาน จนเจอทางสว่างทีละน้อยๆ
ทุกสิ่งทุกอย่างมันคงไม่เพอร์เฟค 100% เพราะความเพอร์เฟคมันไม่มีจริงหรอกนะ แต่เราทำได้ดีที่สุดแล้ว ยอดเยี่ยมมาก อ้าวตอนจบชมตัวเองซะงั้น
“ฉันยิ้มกว้างในทางที่ฉันเดิน มันอาจขรุขระบ้าง สนุกบ้าง เหนื่อยบ้าง อุปสรรคนี่เยอะมาก แต่สุดท้าย การต่อสู้และจัดการกับจิตใจของตัวเองสำคัญจริงๆ ขอบคุณเพื่อนร่วมทางทุกคน อนาคตเด็กๆอาจไปโรงเรียนทางเลือกหรือทำ Homeschool ต่อ แต่ยังไงก็…ดีใจนะที่รู้ได้จัก Homeschool….“
**follow us** เพจ : เลี้ยงลูกให้โตไปกับหนังสือ Instragram : yimwhanfamily เว็บไซต์ : www.yimwhanfamily.com Youtube : Yimwhan Family อีเมลล์ : [email protected] Line Id : @yimwhanfamily