แม่จิ๊บเล่าเรื่อง “เด็ก Homeschool กับการเรียนต่อในระดับปริญญาตรี”
Homeschool การศึกษาทางเลือก…เป็นเครื่องมือเพื่อเข้าถึงการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ (ป.1-ม.3) และศึกษาต่ออีกจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ป.1-ม.ุุ6) จากวิถี Homeschool แล้ว จะเดินต่อทางไหน วันนี้จะพาไปด้อมๆมองๆชีวิตเด็กบ้านเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยกันค่ะ
เราทราบว่าการ Homeschool สามารถทำได้ตามการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ ป.1 – ม.6 ส่วนปฐมวัยหรืออนุบาล ก็แล้วแต่บ้านไหนสมัครใจจะทำ จะส่งไปเรียน จะอยู่บ้าน จะจดเขต ไม่จด จดกับหลักสูตรต่างประเทศ จดกับศูนย์การเรียน หรือใต้ร่มโรงเรียน ก็มีหลากหลายแบบ เป็นการศึกษาทางเลือกที่มีทางให้เลือกเลี้ยวเยอะจริงๆ เรียกได้ว่าตามความเหมาะสมของแต่ละบ้าน
ก่อนจะเล่าเรื่องในรั้วมหาวิทยาลัย จริงๆต้นเรื่องอยู่ที่นี่ค่ะ วันนี้แม่จิ๊บย้อนไปดูภาพงาน **My Way 5 ซึ่งได้มีโอกาสช่วยเป็นพิธีกรช่วงวัยรุ่น Homeschool เค้าคุยกัน
(งาน My way เป็นงานที่กลุ่มพ่อแม่ และเด็กๆบ้านเรียนในเชียงใหม่ จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันกันค่ะ)
My Way 5 ของปี 2561 จัดขึ้นที่อำเภอเชียงดาว บรรยากาศสบายๆมีลำธารไหลใสเย็น ติดอยู่ที่เป็นช่วงปลายๆภาวะหมอกควัน ความโชคดีของเราคือได้เห็นดอยหลวงกันชัดๆ อากาศที่เริ่มคลายจาก PM 2.5
อยากบอกว่า…รู้สึกดี มีความสุขมาก เด็กน้อยของแม่จุ่มเท้าลงน้ำ หัวเราะคิกคัก โซนอาคารเด็กมีกิจกรรมตัดกระดาษ อ่านหนังสือ เย็นๆมาเราลงไปวิ่งเล่นในลำธารกัน ค่ำคืนมีกิจกรรมด้วยนะ แต่เราจะตัดภาพไปเวทีสัมภาษณ์กลุ่มวัยรุ่นกันเลย
ผู้ใหญ่เสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยน เด็กก็เล่นกันไปค่ะ
พี่อรรถ เก่งเรื่องดูดาวม๊ากกกกกกก ชวนเด็กดูดาวตอนรุ่งสางด้วยนะคะ
แน่นอนแหล่ะ เราเห็นเด็กๆเหล่านี้มาตั้งแต่เล็กๆ จนเค้าเติบโตเป็นวัยรุ่น มันน่าตื่นเต้นมากเลย ที่จะได้ฟังวัยรุ่นเค้าคิดและเล่าอนาคตตัวเอง (จากที่เคยเห็นพ่อแม่พาไปทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ My Way 1 จนตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 5 ไม่รู้ว่าวัยรุ่นโตเร็วหรือเวลาผ่านไปไวจนเราตามไม่ทัน)
วันนั้นเราช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อจัดงานให้ออกมาเป็นประโยชน์กับ “บ้านเรียน” รุ่นต่อไป แม่จิ๊บเป็นพิธีกรคู่กับ “น้องบาหลี” ชวนวัยสะรุ่นคุยกัน ถามน้องๆว่าตอนนี้ชีวิตเป็นยังไง จะไปทางไหน ชอบอะไร ซึ่งก็เป็นคำถามที่กลุ่มวัยรุ่นบ้านเรียนเค้าเตรียมกันมาเล่านั่นแหล่ะค่ะ
จำได้ว่าทุกคนเล่าเรื่องของตัวเอง ชอบอะไร วาดรูป ถ่ายภาพ ตัดต่อ อีกมากมาย บางคนก็บอกความชอบหนูเปลี่ยนไปเรื่อยๆค่ะ เราเล่าพูดคุยกันไป แบ่งปันข้อดีข้อเสีย บรรยากาศสบายๆ
วัยรุ่นเค้าเปิดโอกาสให้พ่อแม่ในงานถามได้ เลยมีคำถามเด็ดๆหลากหลายคำถาม เช่น ถ้าหนูมีลูกจะให้ทำ Homeschool ไหม?? วัยรุ่นเค้าก็ขำกันเกรียวกราวนะ
แต่จำคำตอบของน้องอเล็กซ์ได้แม่นมาก “ถ้าหนูมีลูก หนูคิดว่าในตอนนั้นโลกคงเปลี่ยนไปเยอะ การศึกษาก็คงเปลี่ยนไป หนูก็คงให้เค้าเลือกเอง” เป็นคำตอบที่ชอบมากเลย คำตอบนี้มันสะท้อนกระบวนการคิดที่ถูกหล่อหลอมมาให้เราได้เห็นในตัวของเด็ก Homeschool
เด็กๆแนะนำตัวกัน วันนี้มีคนไม่ได้มา นั่นคือพี่คนหนึ่ง ซึ่งเรียนสาขานิเทศฯ ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (^^) เค้าติดธุระพอดี
แม่จิ๊บแอบแซวกับน้องๆว่า เอ ไม่แน่อาจจะได้สอนพี่คนนี้นะเนี่ย เพราะเทอมที่แล้วสอนรายวิชาวิทยุกระจายเสียงไป เทอมหน้าก็คงจะเหมือนเดิม
นั่นแหล่ะ วันนั้นก็เดินทางมาถึง วันที่ได้สอนวิชาวิทยุกระจายเสียง ให้กับ “น้องปูน” เด็กหนุ่มที่ผ่านกระบวนการศึกษามาในแบบของ Homeschool
ตอนสอนก็ไม่รู้ว่าเป็นเด็กที่จบ ม.6 มาจาก Homeschool หรอกนะคะ เด็กในคลาสเยอะ และ 2 Sec ด้วย (เกือบ 80 คน) วิชานี้เรียนหลายพาร์ทด้วยกัน จะมีการแยกเป็นกลุ่มๆและมีอาจารย์พี่ๆ staff คอยเป็นโค๊ชให้ มีภาคบรรยายและปฏิบัติโดยการให้ลงมือผลิตรายการวิทยุของตัวเอง
คิดชื่อรายการ ทำสปอต ทำจิงเกิ้ล บันทึกเสียง ตัดต่อ เรียกได้ว่ารับบทบาทหน้าที่กันไปตามความถนัดและความชอบ มีพรีเซ้นท์ผลงานและวิจารณ์ผลงาน ติชม ให้คะแนนสนุกสนาน
พอสรุปคะแนนส่งเรียบร้อย อ้าว มีเด็ก Homeschool เรียนวิชานี้กะเราด้วย แอบสนใจเหมือนกัน จำได้ว่าน้องปูนก็เป็นเด็กขยันเรียน น่ารัก ช่างถามเหมือนกันนะ
พอถามพี่ที่เป็นโค๊ชกลุ่มของ น้องปูน ว่าเป็นยังไงบ้าง พี่เค้าก็ตอบมาว่า “จะเป๋นจะได ก่อเป็นคนปกติธรรมดาน่าก่ะ ก่อว่าเรียนจบ Homeschool มาเน้อ น่าก่ะ” พี่เค้าตอบแบบขำๆ
5555 แม่จิ๊บชอบคำตอบนี้จัง เออแฮะ เราคิดว่าเด็กๆ Homeschool จะต้องเป็นยังไงล่ะ “เค้าก็เป็นคนปกติธรรมดานี่ไงล่ะ” เรียนปกติ ทำงานกะเพื่อนปกติ ใช้ชีวิตปกติไง สำหรับพ่อแม่ที่กำลังสนใจว่าน้องเค้าเรียนยังไง ปรับตัวได้ไหม ผลการเรียนเป็นยังไงบ้าง อ่านที่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ในหนังสือด้านล่างค่ะ
สอนจบไปเทอมหนึ่ง ก็เลยมาเขียนเล่าให้ฟังนี่แหล่ะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเด็กในโรงเรียนหรือเด็ก Homeschool กระบวนการที่มาอาจต่างกัน แต่พอเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ก็ต้องปรับตัวด้วยกันหมด
การเรียนในมหาวิทยาลัยโดยวิธีการก็มีความอิสระบ้าง คือมีวิชาบังคับและวิชาเลือก วิชาบังคับก็ต้องผ่านวิชาเหล่านี้ไปให้ได้ (บางครั้งก็อาจจะไม่ได้ชอบแต่เผอิญสาขาที่เราเลือกมันมีวิชานี้) ส่วนวิชาเลือก มองๆดูก็เหมือนอิสระ เลือกเรียนที่เราสนใจ ก็ดีไปอีกแบบ เวลาเรียนไม่ได้เข้า 8.30 เลิก 16.00 น. แต่ลงตามวิชานั้นๆ บางวันก็อาจว่างจากการเรียนก็เอาไปเลือกทำกิจกรรมที่ชอบ แต่สุดท้ายการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เราก็ต้องเจอกับระดับการวัดผลอิงกลุ่มอิงเกณฑ์กันอยู่ดี ซึ่งก็คือ A B C D ไปกระทั่ง F (เด็ก Homeschool ก็ต้องปรับตัว) ถ้าไม่รู้ว่าน้องปรับตัวยังไง มาอ่านคำสัมภาษณ์ของน้องปูนกันค่ะ (หยิบมาจากบางส่วนของหนังสือ เด็กอะไร….ไม่ไปโรงเรียน)
การเลือกเรียนในคณะต่างๆหรือวิชาต่างๆในระดับมหาวิทยาลัย มีความสำคัญมากๆ เพราะมันเป็นการปูทางพื้นฐานอาชีพผสานความชอบกลายเป็นสิ่งที่จะเลี้ยงเราได้ในอนาคต เด็กๆลองถามตัวเองว่า #เราได้สำรวจและค้นหาตัวเองเพื่อก้าวเข้าสู่การปูพื้นฐานงานในอนาคตตัวเองผ่านการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยหรือยัง พูดง่ายๆคือเจอตัวตนตัวเองหรือยัง
เพราะการเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของเด็ก Homeschool ในมุมมองแม่จิ๊บ เค้าก็เป็นนักศึกษาธรรมดาๆ ที่รอวันเติบโตในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อเดินต่อเส้นทางสายอาชีพ หรือต่อยอดไปสู่สิ่งที่รักสิ่งที่ชอบ ความขยัน ความเก่ง การประสบความสำเร็จ อยู่ที่ตัวนักศึกษาเอง ครูและเพื่อน สิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นส่วนเสริมเท่านั้น”
…..แม่จิ๊บสัมภาษณ์เด็กๆในงาน My way 5 สิ่งที่แอบเก็บข้อมูลไว้ในฐานะแม่คนหนึ่งคือ เด็กๆทุกคนมีจุดหมาย เป้าหมาย ชัดเจนมาก นี่น่าจะเป็นจุดเด่นของการทำบ้านเรียนค่ะ เด็กมีโอกาสได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ได้ค้นหาตัวเอง ได้รู้จักความชอบตัวเองได้เร็ว…..ก็เลือกเส้นทางตัวเองได้ชัดเจน ตามวิถีเด็กบ้านเรียน
ปล.บทความนี้เป็นมุมมองส่วนตัวของแม่จิ๊บนะคะ