คุณคิดว่า ในอีกสัก 100 ปี ……โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง? เทคโนโลยี การศึกษา สังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงภัยออนไลน์ จะเปลี่ยนไปแบบไหน? แล้วเราจะอยู่กันยังไง
ปัจจุบันกระแสเรื่อง Technology Disruption กำลังมาแรงมาก และเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด เพียงแค่ 5-10 ปีข้างหน้าเราก็คงได้อยู่ในความเปลี่ยนแปลงมากมาย
แม่จิ๊บเป็นแม่ที่เกิดใน เจนเนอเรชั่น Y (คนเกิดปี 2523-2540) กลุ่มที่เกิดมาพร้อมความเปลี่ยนแปลง (เป็นเจนที่ได้เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างเป็นขั้นตอน) และแม่จิ๊บมีลูกที่เกิดในเจนเนอเรชั่นอัลฟ่าอีก 2 คน (เด็กที่เกิดปี 2558 – 2568) เจนที่เกิดมาก็พบกับโลกดิจิตอล (ว่ากันว่าเด็กๆเจนนี้จะฉลาดที่สุดในเผ่าพันธุ์มนุษย์)
เพื่อตอบคำถามที่ตั้งไว้ แม่จิ๊บจึงเขียนบทความแห่งปีขึ้นมา เป็นบทความที่มีข้อมูลหลายส่วนทั้งเรื่องการศึกษาและสื่อ วิทยากรเยอะและหลากหลายมาก ซึ่งเป็นความโชคดีของงานแม่จิ๊บที่สุดที่ได้ทำงานที่มีโอกาสเปิดหูเปิดตา บทความนี้จึงยาว ภาพเยอะมาก ถ้าพูดถึงค่าเขียนค่าทำสื่อชุดนี้น่าจะขาดทุนยับเยิน (ฮาาา) แต่ถ้าถามถึงประโยชน์ต่อคนอื่น “กำไรท่วมท้นแน่นอน แม่คอนเฟิร์ม แม่ภูมิใจนำเสนอ”และเขียนในเว็บไซต์แม่จิ๊บเอง อยากเขียนอยากแชร์อะไรจงทำออกมาไม่ต้องกลัวพื้นที่ไม่พอ 55 อย่าลืมเซฟเก็บไว้นะคะ
อันดับแรกแม่จิ๊บจะพาไปชมสื่อในงานครบรอบ 100 ปีของฟินแลนด์ ประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีในลำดับต้นๆของโลก “Finland Defining the Next 100 Years” อีก 100 ปีข้างหน้าของฟินแลนด์จะเป็นเช่นไร เชิญชมค่ะ
(Cr: สื่อนี้แม่จิ๊บได้ชมจากการบรรยายของคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ในงานสัมมนา “ความเข้มแข็งภาคพลเมืองกับการรับมือข้อมูลลวงและด้านมืดออนไลน์” ซึ่งจัดที่เชียงใหม่ เมื่อ 2-3 พ.ย. 2562 ณ โรงแรม Syn Hotel)
ดูแล้วว้าวเลยใช่ไหมคะ ทุกอย่างเต็มไปด้วยเทคโนโลยีและ Sensor การใช้ชีวิตแบบ 5G ขนาดตั้งครรภ์ยังรู้ข้อมูลลูกที่อยู่ในท้องไปจนถึงระดับจีโนม รวมไปถึงการได้ทำงานและเติบโตใช้ชีวิตไปกับ AI (แต่ตอนจบเฉลยว่าไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปอย่างไร สิ่งแวดล้อมและความรักความสัมพันธ์แบบมนุษย์ก็ยังคงอยู่)
นั่นคืออีก 100 ปีข้างหน้าที่คาดการณ์ไว้ แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแบบก้าวกระโดด บทความนี้จึงจะเล่าถึงการศึกษาที่เราต้องปรับตัวโดยเฉพาะค่ะ ไม่เพียงแค่แม่ที่มีลูกในระดับอนุบาลแบบแม่จิ๊บเท่านั้น แต่การถูก Technology Disruption ส่งผลอย่างชัดเจนแล้ว “ในระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก”
Technology Disruption กับการปรับตัวของมหาวิทยาลัยไทย (และมหาวิทยาลัยโลก)
“มหาวิทยาลัย” ได้เปลี่ยนร่มสังกัด จาก “กระทรวงศึกษาธิการ” ไปเป็น “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” หรือที่เรียกสั้นๆว่า “อว.”
**หมายเหตุ ยุบกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) มารวมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กลายเป็นกระทรวงใหม่คือ “อว” เริ่มใช้เมื่อ 2 พ.ค. 2562
เป็นกระทรวงที่มาพร้อมการ Digital Transformation และ Technology Disruption ที่แท้ทรู (ยุคนักศึกษาลดฮวบฮาบพอดี) ซึ่ง รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวง อว. ท่านได้บรรยายถึงภารกิจที่สำคัญของกระทรวงและข้อมูลทั่วไป แต่สิ่งที่เป็นประเด็นทั่วโลกและเกิดการเปลี่ยนแปลง(ทำลายล้าง) อย่างรวดเร็ว “คือนโยบายการศึกษาในศตวรรษที่ 21”
Cr: ท่านบรรยายในการทบทวนนโยบายของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ เชียงใหม่
ท่านเล่าว่าการศึกษา (Education) แท้จริงแล้วไม่ใช่การใส่ข้อมูลให้เด็กฝ่ายเดียว แต่คือการดึงศักยภาพและความสามารถของเด็กออกมา (คิดถึงบทความพหุปัญญาของ ศ.การ์ดเนอร์เลย แม่จิ๊บเคยเขียนไว้ ไปตามอ่านที่นี่ค่ะ >> พหุปัญญาอัจฉริยะ 9 ด้าน….ศ.การ์ดเนอร์ จากฮาร์วาด เด็กไม่เก่งคำนวณ ไม่เก่งภาษา ไม่ได้หมายความว่าโง่ |Yimwhan Family|
จุดที่น่าสนใจคือ การศึกษาในปัจจุบัน มีความต้องการเพื่อปริญญาเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น แต่การศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ (30 ล้านคน) และเพื่อเพิ่มพูนความรู้ช่วงสูงวัย(10ล้านคน) มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัว เพราะกลุ่มนักศึกษาลดลงอย่างมาก แถมมีที่ให้เลือกอีกเพียบ การยุบของหลักสูตรหรือถึงขั้นปิดมหาวิทยาลัยจึงเป็นผลกระทบที่ตามมา
ศาสตราจารย์ เคลย์ตัน คริสเตนเซน (Clayton Christensen) อาจารย์และนักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของทฤษฎี disruptive innovation ได้เขียนบทความลงในหนังสือ The Innovative University ถึงข้อมูลที่มหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดไปแล้ว 500 แห่งจากทั้งหมด 4500 แห่ง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
ผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นทั่วโลก แล้วมหาวิทยาลัยที่ยังเป็นสถานศึกษาแบบเดิมๆจะอยู่รอดได้อย่างไร
แม่จิ๊บขอให้จำคำว่า “Lifelong learning การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ที่อยู่ในรูปนี้ด้วยนะคะ (เป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญมาก)
เรามาดูข้อมูล Fact ที่น่าสนใจคือ “นักศึกษาลดลงทุกปี” ทั้งจากหลายสาเหตุปัจจัย เช่นการเกิดใหม่ที่ลดลง คนมีทางเลือกเยอะขึ้น จริงๆแล้วมีสัญญาณลดลงทุกปี แต่ดูเหมือนวิกฤติมหาวิทยาลัยไทยจะเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นช่วงปี 2559 – 2561 นี่เอง
และถ้าถามว่านักศึกษาเหล่านั้น เลือกเรียนอะไรกันบ้าง สายสังคมดูเหมือนจะยังสูงสุดเช่นเคย
มหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้น“เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต” แต่….ในทางปฏิบัติ มหาวิทยาลัยของท่านขยับและปรับตัวให้เป็นแหล่งเรียนรู้นี้ให้ทันโลกและเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตตอบโจทย์ความต้องการในยุค Technology Disruption เพื่อความอยู่รอดแล้วหรือยัง และบุคลากรในองค์กรของท่านได้เข้าใจและตระหนักเรื่องนี้กันหรือยัง……(นักศึกษาน้อยลง = มีผลกับหน้าที่การงาน)
จาก Lifelong learning เริ่มมีคำว่า “Non-Degree และ Skill future” ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ท่านได้บรรยายเรื่องการวิจัย งบวิจัยต่างๆของกระทรวงรวมไปถึง BCG Model และปิดท้ายด้วย “การปรับตัวของหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญ” (เปลี่ยนหลักสูตรให้เหมาะกับความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป)
ฝั่งสถาบันการศึกษาเอกชน ก็ปรับตัวเช่นเดียวกัน ซึ่ง ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุมได้เล่าการปรับตัวของมหาวิทยาลัยถึงการจัดกลุ่มคณะใหม่ เพื่อรองรับการหลอมรวมกัน การจับมือกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น (ปล.ท่านเป็นอธิการที่สวยและเสียงเพราะมากค่ะ ฟังเพลินสุดๆ)
ขออนุญาตนำ Power Point มาเป็นตัวอย่างให้ชมนะคะ (PP เผยแพร่สาธารณะค่ะ แม่จิ๊บตัดบางส่วนมาค่ะ) จะเห็นว่าภาคเอกชนปรับตัวเร็ว ชัดเจน และมี Road Map ที่น่าจะทำได้เร็วกว่าภาครัฐ
การจัดกลุ่มคณะต่างๆ การถูกยุบคณะ รวมไปถึงต้องยุบสถาบันการศึกษา ฟังแล้วเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับคนทำงานมาหลายปี หลายสิบปี เพราะคำว่ามั่นคง กำลังถูกสั่นคลอน ไม่ใช่การปรับตัวของหัวเรือที่ชื่อว่ามหาวิทยาลัยเท่านั้น ฟันเฟืองเล็กๆอย่างบุคลากรก็ต้องปรับตัวโดยเร็ว เพราะผลกระทบคงจะเกิดขึ้นอีกในไม่กี่ปีที่จะถึงนี้
สุดท้ายอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุมยังกล่าวว่า เมื่อก่อนเราอาจเขียนแผนหลักสูตรกัน 5 ปี 10 ปี แต่สำหรับตอนนี้ เราไม่มีแผนระยะยาว มีแต่แผนระยะสั้น 3 ปี เพราะเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นเร็วมาก “และการเปลี่ยนแปลงคือการพัฒนา” การเข้าใจและปรับตัว คิดใหม่ให้ทันโลก จะทำให้มหาวิทยาลัยอยู่รอดได้
“สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวให้ทัน” คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรเครือเจริญโภคภัณพ์ (ซีพี) ได้เล่าเรื่องทักษะอาชีพที่มาแรงในศตวรรษที่ 21 ให้ฟังค่ะ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เตรียมพร้อมสำหรับการสร้างคนเพื่อตอบโจทย์ตลาดหรือยัง และย้ำว่าการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรเดินไปพร้อมความยั่งยืนขององค์กรด้วย
“การศึกษาออนไลน์” จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง การทำ MOOC หรือ Massive Open Online Courses กันแทบทุกมหาวิทยาลัย การเรียนออนไลน์ เรียนเฉพาะคอร์สที่สนใจ เรียนที่ไหนก็ได้ คือเทรนด์และทางรอดของมหาวิทยาลัยในยุคนี้ ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านกล่าวอย่างน่าสนใจว่า การ Digital Transformation ที่กำลังเกิดขึ้น มาพร้อมการปรับเปลี่ยนหลายๆอย่างทั้งเทคโนโลยี โมเดลธุรกิจหรือแม้แต่กระบวนการต่างๆซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขันและประสบการณ์ใหม่ๆอีกมากมาย
ถ้าคุณอยากเรียนมหาวิทยาลัยดังๆ ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องสอบเข้า ไม่ต้องแข่งขัน โลกการศึกษาในศตวรรษที่ 21 กำลังจะจัดให้คุณ และจะเกิดอะไรขึ้นกับมหาวิทยาลัยในไทย เมื่อคู่แข่งขันของคุณคือมหาวิทยาลัยในระดับโลก
ยังไม่พอแค่นั้นทักษะและสาขาที่คุณเปิด เคยเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ปัจจุบันกำลังถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ และอนาคต AI เหล่านั้น จะมาเดินสวนกับคุณ ทำงานกับคุณ ใช้ชีวิตร่วมโลกใบเดียวกับคุณ และมาพร้อมการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นที่มีประสิทธิภาพ ทดแทนทักษะที่มนุษย์อ่อนด้อยด้วย AI ที่แม่นยำกว่า แล้วทักษะไหนล่ะ ที่จะพาให้มนุษย์อยู่รอดได้……
ใช่ค่ะ สาขาที่มีความ “Creative”
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณนายแพทย์อุดม คชินทร สมาชิกวุฒิสภา ให้ข้อคิดในการปรับตัวของมหาวิทยาลัยในยุคนี้ ความรู้ที่เราเรียนรู้มาจะเริ่มหมดอายุ เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆจะพัฒนาและค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆเสมอ เด็กๆในเจเนอชันแอลฟ่าจะรู้ทุกอย่างเพียงปลายนิ้ว ซึ่งถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว การจะไปสอนเด็กกลุ่มนี้จึงอาจไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้การสอนองค์ความรู้ที่ไม่มีการอัพเดทหรือปรับปรุง จะทำให้ความรู้ที่นักศึกษาเรียนไป กลายเป็นความรู้ที่ไม่อัพเดทหรือหมดอายุไปและยังเป็นทักษะที่ถูกแทนที่ได้ง่ายๆด้วย AI ผลคือเรียนจบแต่ตกงาน และยังคงยืนยันว่าทักษะด้านภาษาอังกฤษยังสำคัญมาก
และท่านแนะนำให้จัดการศึกษาแบบ Life long learning จึงตอบโจทย์ยุคนี้มาก เพราะการศึกษาตลอดชีวิตจะทำให้เราเป็นเด็กอนุบาลตลอดเวลา เปิดรับสิ่งใหม่ๆจนเป็นนิสัย แม้ว่าการเรียนรู้ “เครื่องมือ” นั้นจะเปลี่ยนไปยังไง แต่เราจะปรับตัวได้เสมอ (เจอคำนี้อีกแล้วนะคะ แม่จิ๊บว่านำมาปรับกับลูกเราได้ดีมากๆค่ะ)
และปิดท้ายในส่วนของอุดมศึกษา ถ้าถามว่าควรปรับตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอดในยุค Technology Disruption วิทยากรให้ดูภาพนี้ค่ะ แล้วบอกว่า อะไรตัวโตและเห็นชัดที่สุดนั่นแหล่ะ คือสิ่งที่ต้องปรับอย่างเร่งด่วน
ต่อไปเป็นความคิดเห็นของแม่จิ๊บ แม่คิดว่าสำหรับมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวดังนี้ (ปล.ความคิดเห็นส่วนตัวค่ะ)
1.หลักสูตรต้องปรับให้ทันความต้องการโลก
ปรับเป็น open university รองรับผู้ที่ไม่ได้ต้องการปริญญาแต่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีหลายสิบล้าน
2.การทำงานของบุคลากรฝ่ายรับนักศึกษาสำคัญอันดับ 1
ต้อง one stop services มีจิตบริการและทนทานต่อแรงกระทบ บริการตั้งแต่ต้นจนจบ ปิดจ๊อบได้ (ไม่ใช่รอให้ นักเรียนที่อยากมาเรียนหรือ นศ.มาง้อ หรือต่อสายไป 4-5 ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปแถมสายหลุดอีก ตึ๊ดๆ บายยยย)
3.การสร้างแบรนด์ที่ดี สร้างสรรค์ ภาพลักษณ์โดนใจวัยนักศึกษาในศตวรรษที่ 21
ตลาดการศึกษาต้องการอะไร เราก็ต้องปรับตาม ถ้ายังไม่ปรับ คุณก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
4.กิจกรรมในมหาวิทยาลัยควรมีแก่นจริงๆและสร้างสรรค์
จัดเพื่ออะไร และควบคุมให้ดี มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัยและไม่รุนแรง
5.เลือกเอาว่าคุณจะปรับตัวเอง อยู่รอดเอง หรือให้กลไกโลกมันปรับให้ โดยไม่มีทางเลือก
เฮ่ลโหล่ววว โลกมันแบนแล้ว จามอยู่อเมริกาติดหวัดที่ไทย ทางเลือกทางการศึกษาแข่งกันทั่วโลกจ้า จีนติดปีกขยายประชากร เศรษฐกิจ การศึกษาไปยังมหาวิทยาลัยทั่วโลกเลย
ในการเขียนบทความอันยาวเหยียดส่งท้ายปี 2562 นี้ แม่จิ๊บขอให้เป็นของขวัญพิเศษสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีหัวอกเดียวกัน คือ….มีลูกเจนอัลฟ่า เจนที่มาพร้อมโลกดิจิทัล เจนที่ความอดทนต่ำ เติบโตมาพร้อมการแวดล้อมด้วยจอ ….. แล้วการศึกษาของลูกเราจะไปทิศทางไหนดี
(ปัจจุบันแม่จิ๊บให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือกและแบบ Home School ค่ะ ซึ่งคิดว่าตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างพอสมควร มีข้อมูลมากมายที่ทำแล้วเอาประสบการณ์มาเขียนเป็นสเต็ปไว้ให้ที่นี่นะคะ {EP.15} Homeschool ตอนพิเศษ 5Ps Must do แจกไฟล์ HS ตั้งแต่เริ่มต้น-ประเมินผล พร้อมไทม์ไลน์ใน 1 ปี |Yimwhan Family|)
แม่จิ๊บคิดว่าเรา “เติบโตทางความคิดและเรียนรู้ไปด้วยกัน” น่าจะเป็นคำที่เหมาะกับการเรียนในยุคนี้ บางอย่างเราสอนลูก บางอย่างลูกสอนเรา ฟังวิทยากรท่านไหนก็บอกคำเดียวกันคือ “Lifelong Learning และการปรับตัว” สำหรับพ่อแม่ยุคนี้ อยากเล่าเหลือเกินว่า “ครอบครัวยังสำคัญที่สุดและขอยืนยันว่าการสร้างลูกให้รู้จักหาคำตอบเอง เรียนรู้เองตั้งแต่ 0-5 ขวบปีแรก ลูกจะฟอร์มนิสัยนี้ติดตัวไปตลอดชีวิต” การเรียนในระบบไหนก็สามารถสร้าง Future Skill ได้ สำคัญที่ความคล่องตัวของพ่อแม่และความเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิตต่างหากที่เราควรสอนลูก
ทำไมเราถึงสอนทักษะบางอย่างลูกไม่ได้ เรื่องราวของอายุขัยของความรู้ ถูกสำรวจโดยทางบริษัทซี (SEA) จับมือกับ World Economic Forum ทำแบบสำรวจคนรุ่นใหม่อายุ 1
รวมถึงทักษะที่อยากมียังนำโด่งคือเรื่องภาษา เรื่องเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ส่วนแหล่งที่คิดว่าจะได้ความรู้เหล่านี้ นอกจากมหาวิทยาลัยจะนำมาเป็นอันดับ 1 เทรนด์การตอบบอกไว้ว่า “มาจากนอกระบบโรงเรียน” นั่นหมายถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ทุกที่
มีโอกาสได้ฟัง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากสถาบัน TDRI พูดคุยจากรายการ The Standard ท่านเล่าเรื่องเม่นและจิ้งจอกไว้น่าสนใจมากค่ะ คุณจะสอนลูก จะชวนลูกเรียนรู้และเติบโตไปแบบไหน ในเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จะรู้ลึกแบบเม่น หรือ รู้กว้างแบบจิ้งจอกดี แล้วเมื่อความรู้ที่มีมันหมดอายุขัย คุณจะอัพเดทและเติมความรู้ให้ตัวเองอย่างสม่ำเสมอได้อย่างไรในยุคนี้ (หลายคนเลือกที่จะกันเงินแต่ละเดือนไว้เรียนออนไลน์คอร์สที่ชอบเพื่อพัฒนาตัวเอง)
และขอแปะหนังสือเล่มนี้ตามคำแนะนำของอาจารย์ให้ลองไปอ่านดูนะคะ “Lifelong Kindergarten อนุบาลตลอดชีวิต” ลองฝึกเป็นเด็กอนุบาลตลอดชีวิต เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning แค่คิดก็ตื่นเต้น มาปลูกนิสัยแบบนี้ไปพร้อมกับลูกๆเรานี่แหล่ะ
และขอปิดท้ายด้วยเรื่องราวของโลกออนไลน์ เขียนมายาวมากเรื่องชีวิตและการศึกษาที่ต้องปรับเพราะเทคโนโลยี ขอฝากทักษะเรื่องการเรียนรู้โลกออนไลน์ไว้ให้เด็กๆหน่อยนะคะ คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวไว้ดีมากค่ะ เราโตไปกับเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่าภัยที่มาในรูปแบบใหม่ๆโดยอาศัยเทคโนโลยี ก็เพิ่มระดับรูปแบบมาเช่นกัน
การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ ระบบงานเปลี่ยน ทักษะที่เป็นงานประจำถูกแทนด้วย AI การเรียนรู้ในยุคโลกแบน และแน่นอนภัยที่มาในรูปแบบออนไลน์
ฝากด้วยความห่วงใยค่ะ ขอยกเอาคำพูด คุณสุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. ที่ท่านกล่าวอย่างห่วงใยว่า “ในยุคดิจิทัล รู้ทันข่าวลวงต่างๆและปลูกฝังให้ตัวเราเองและลูกหลาน ใช้สื่อให้เป็น ใช้ให้ปลอดภัย ใช้ให้มีประสิทธิภาพและใช้อย่างรู้เท่าทัน ชัวร์ก่อนแชร์”
และฝึกเอ๊ะ! ทุกครั้งที่คุณได้อ่านข่าวสารหรือข้อมูลที่ไหลบ่ามาจากทุกทิศทุกทาง ไม่ว่าจะสื่อกระแสหลักหรือจากสื่อบุคคล และรู้จักรักษาข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง แม้แต่บทความชิ้นนี้ของแม่จิ๊บ แม้จะมีข้อมูลอ้างอิงมากมาย แต่ก็อย่าเชื่อไปทั้งหมดนะคะ ฝึกไตร่ตรองให้เป็นนิสัย ด้วยความปรารถนาดีจากแม่จิ๊บ หนึ่งในพลเมืองดิจิทัลของโลกใบนี้
ปล.เป็นประโยชน์โปรดแชร์และเซฟเก็บไว้อ่านได้เลยนะคะ แม่จิ๊บยินดีอย่างยิ่งค่ะ
**follow us**
เพจ : เลี้ยงลูกให้โตไปกับหนังสือ
Instragram : yimwhanfamily
เว็บไซต์ : www.yimwhanfamily.com
Youtube : Yimwhan Family
อีเมลล์ : [email protected]
Line Id : @yimwhanfamily