ค้นหา
Touch

การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ไม่เพียงจะต้องใช้กิจกรรมที่สนุกสนาน และกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นแล้วเท่านั้น

 

ซึ่งสิ่งที่สำคัญนั่นก็คือ คุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ที่ดีผ่านการลงมือทำ การสัมผัส และสำรวจ เพื่อแสวงหาคำตอบด้วยตัวของเด็กเอง ว่าแต่การสัมผัสของเด็กจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร แม่จิ๊บมีคำตอบมาให้ค่ะ

 

Tactile System

 

การรับสัมผัสทางผิวหนัง Tactile System ถือเป็นระบบประสาทที่เด็กมีตั้งแต่อยู่ในท้องของคุณแม่ และเด็กจะสามารถรับรู้การสัมผัสบนร่างกายผ่านทาง มือ เท้า ผิวหนังค่ะ จากข้อมูลของชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย ได้กล่าวไว้ว่า การสัมผัสทางผิวหนัง มีผลต่อปฏิกิริยาของเด็กต่อสิ่งแวดล้อมว่าจะ สู้ Fight หรือหนี Flight เพราะระบบนี้สัมพันธ์กับการทำงานของสมองค่อนข้างมาก จึงมีผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม

 

หน้าที่ของการรับสัมผัสแบ่งออกเป็น 2 อย่างได้แก่

1.ระบบป้องกัน Protective abilities ทำให้เด็กหรือแม้กระทั่งตัวของผู้ใหญ่เองมีชีวิตรอดจากอันตรายต่าง ๆ ได้ ดังนั้นมักเกี่ยวข้องกับ ความเจ็บปวด อุณหภูมิ และ การจับแรงๆ

 

2. ระบบแยกแยะ Discriminative abilities ทำให้รู้ว่ากำลังสัมผัสอะไร เอาส่วนไหนของร่างกายไปสัมผัส มักเกี่ยวข้องกับ แรงสั่น แรงกด การรับรู้ของข้อต่อต่าง ๆ จึงเห็นได้ว่าทั้งสองหน้าที่เมื่อทำงานอย่างสมดุลกัน เด็กจะประมวลผลและแสดงพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสมค่ะแม่จิ๊บเลยนำกิจกรรมที่จะสามารถช่วยพัฒนาการรับสัมผัสของเด็ก ๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย

 

Tactile System

 

กิจกรรมปั้นดินน้ำมัน ใช่แล้วล่ะค่ะ แม่จิ๊บเชื่อว่าหลาย ๆ บ้านจะต้องมีดินน้ำมันให้เด็ก ๆ ได้ปั้นเล่นกันค่ะ เพราะดินน้ำมันนอกจะทำให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนานในการใช้จินตนาการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานแล้ว ดินน้ำมันยังมีผิวสัมผัสที่นุ่ม และในบางครั้งอาจจะแข็งตัว

 

ซึ่งในระหว่างปั้นดินน้ำมันเด็ก ๆ ก็จะได้เรียนรู้ผิวสัมผัสของดินน้ำมันผ่านการบีบ ขย้ำ การจิ้ม การนวด ผ่านปลายนิ้วมือ ในขั้นนี้จะส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดีค่ะ ซึ่งเป็นผลที่ดีและทำให้เด็กมีพื้นฐานการเขียนในอนาคตอีกด้วย คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมได้ จะทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนานและเกิดวามภาคภูมิใจกับผลงานของตนเอง และในขณะเดียวกันการชื่นชมของคุณพ่อคุณแม่ก็จะช่วยให้เด็กอยากที่จะทำกิจกรรมต่อไปด้วยความตั้งใจค่ะ

 

Tactile System

 

Tactile System

 

กิจกรรมเล่นทราย เป็นกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายเลยค่ะ เพราะเป็นธรรมชาติที่อยู่รอบตัวของเด็ก ๆ กิจกรรมการเล่นทรายถึงแม้ว่าจะดูธรรมดา แต่สิ่งที่เด็กได้จากการเล่นทรายนั้นมหาศาลมาก ๆ เลยค่ะ เพราะเด็ก ๆ จะได้สัมผัส สังเกต ความแตกต่างของเม็ดทราย ที่มีทั้งความหยาบ ความละเอียด ความร่วนของทราย ทรายที่แห้ง หรือทรายที่ผสมกับน้ำ

 

ซึ่งจากที่กล่าวมาจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันหลังจากที่ได้สัมผัส และเกิดจินตนาการในการเล่นแบบอิสระในขณะเล่นทรายและรู้สึกไม่มีขอบเขตในการเล่น รวมถึงเด็ก ๆ มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมที่ทำได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ ทั้งยังช่วยในเรื่องกล้ามเนื้อมัดเล็ก ในการหยิบจับ สัมผัสทราย และส่งผลต่อสมองในการคิดอย่างสร้างสรรค์ผ่านการเล่นทราย ในขณะเดียวกันก็ช่วยเรื่องกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้แข็งแรง เพราะเด็ก ๆ จะต้องใช้ทั้งแขนและขา การยืนทรางตัว ตักทราย ทำให้ร่ายกายของเด็กเกิดการเรียนรู้ ทั้งยังส่งผลกระทบถึงพัฒนาการทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Autonomy คือความมั่นใจว่าเราก็ทำได้ นอกจากเด็กจะควบคุมฉี่ควบคุมอึได้แล้ว ยังควบคุมแขนขาได้อีกด้วย บทบาทของคุณพ่อคุณแม่ในการทำกิจกรรมเล่นทราย อาจจะเข้าไปพูดคุยสอบถามเรื่องทรายกับเด็ก ๆ เช่น หนูทำอะไรอยู่จ๊ะ รู้ไหมทรายเกิดขึ้นได้อย่างไร และอธิบายคำตอบให้กับเด็ก ๆ ฟังเพื่อเป็นการเสริมความรู้ให้กับเด็กอีกด้วยนะคะ

 

Tactile System

 

กิจกรรมกล่องวัสดุนานาชนิด ซึ่งกิจกรรมนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องหาวัสดุนานาชนิดที่จะต้องมีพื้นผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน โดยอาจจะเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวของเด็ก ๆ เช่น เมล็ดพืช  ก้อนหิน ไม้ โลหะ พลาสติก ผ้า เพื่อที่จะได้ให้เด็ก ๆ ลองสัมผัสถึงวัสดุต่าง ๆ ที่มีพื้นผิวสัมผัสเฉพาะ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และแยกแยะประเภทของสิ่งต่าง ๆ ได้

 

ในขณะเดียวกันยังสามารถนำวัสดุเหล่านี้มาเล่นได้อย่างอิสระตามจินตนาการของเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในระหว่างทำกิจกรรมได้ อาจจะคอยชี้แนะหรืออธิบายความเป็นมาของวัสดุต่าง ๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลเพิ่มเติมของเด็กเพื่อที่จะอยากแสวงหาความรู้เพิ่มเติมหรือคิดต่อยอดในการประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุนั้น ๆ ค่ะ

 

Touch

 

จากกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้เองง่าย ๆ ได้ที่บ้านเลยใช่ไหมละคะ คุณพ่อคุณแม่เองก็ได้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องการสัมผัสของเด็ก ๆ ที่มีผลต่อการเรียนรู้แล้ว เพราะการสัมผัสไม่เพียงที่จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถแยกประเภทของสิ่งของต่าง ๆ ได้ ยังช่วยในเรื่องของพัฒนาการด้านร่างกาย นั้นก็คือ กล้ามเนื้อมัดเล็ก และ กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ในการหยิบจับ การสัมผัส สิ่งของ ทำให้พัฒนาการด้านอารมณ์จิตใจของเด็กเกิดสมาธิในการทำกิจกรรม และมีความตั้งใจ รวมถึงความภาคภูมิในตัวเอง ในด้านสังคม เมื่อกิจกรรมที่กล่าวมาได้ร่วมเล่นกับพี่น้องหรือคุณพ่อคุณแม่ก็จะฝึกทักษะทางภาษา ในการเล่นบทบาทสมมุติ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน ในด้านของสติปัญญาเด็กจะเกิดการเรียนรู้ผ่านการเล่น เพราะการสัมผัสจะส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้ทางสมองของเด็กทำให้เด็กมีไอคิวที่สูงขึ้น ซึ่งไอคิวในที่ไม่ได้เป็นผลการวัดความฉลาด แต่เป็นการวัดความสามารถในการปรับตัวของเด็กในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เด็กแสดงวิธีการแก้ไขปัญหาในระหว่างการทำกิจกรรมด้วยตัวเองค่ะ ดังนั้นอย่ามัวรอช้าเลยค่ะแม่จิ๊บว่าเราไปทำกิจกรรมกันเลยนะคะ

 

**follow us**

เพจ : เลี้ยงลูกให้โตไปกับหนังสือ

Instragram : yimwhanfamily

เว็บไซต์ : www.yimwhanfamily.com

Youtube : Yimwhan Family

อีเมลล์ : [email protected]

Line Id : @yimwhanfamily

 

 

 

 

Author: Yimwhanfamily

Yimwhan Family แบ่งปันเรื่องราวแม่มือใหม่เลี้ยงลูกเชิงบวก ที่จัดการศึกษาทางเลือกในแบบ Life Long Learning สร้างเด็กรักการอ่าน (Read to Grow) และท่องเที่ยวสไตล์เด็กและครอบครัว โดย Real Mom "แม่จิ๊บ" Working Mom ที่มีความฝัน และ Passion คือ "เลี้ยงลูกให้โตไปกับหนังสือ"  

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these <abbr title="HyperText Markup Language">html</abbr> tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

*