ค้นหา
Homeschool - บ้านเรียน - อนุบาล

บ้านเรียนในศตวรรษที่ 21 ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

สวัสดีค่ะคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน รายการเรียนรู้อยู่บ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมจากโครงการ “บ้านเรียนปฐมวัย ตื่นรู้สู้ภัยโควิด 19” ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. และ สสย. (สถาบันส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน) ซึ่งในวันนี้ จะพาเพื่อนๆไปอ่านบทความของคุณพ่อน้องแมททิว หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการนี้กันค่ะ คุณพ่อทำ Homeschool  ให้กับน้องแมททิว ในชั้นอนุบาล 3 และพี่แอนดรูว ในชั้น ป.5 และยังเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ วันนี้คุณพ่อมาแชร์เรื่องการเรียนของเด็กๆ ในยุคนี้ให้ฟัง อ่านแล้วนำไปใช้ได้แน่นอนค่ะ


โครงการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ภัยโควิด-19 จากบ้านเรียนสู่สื่อชุมชนออนไลน์

ภายใต้โครงการ MIDL for Inclusive Cities 2020

การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เพื่อสร้างเมืองสำหรับทุกคน ภายใต้สถานการณ์โควิด-19

 

Homeschool - บ้านเรียน - อนุบาล

โลกในศตวรรษที่ 21 ที่อยู่ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมีการพลิกผันอย่างมากจนยากที่จะคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตได้ คงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้ว่าลูกของเราจะเติบโตไปทำอาชีพอะไรในอนาคต แต่นั่นคงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะโลกกำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรงด้วยภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่ดังที่เรากำลังประสบอยู่นี้ ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมลูกของเราให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน ที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตของเขาอีกนับครั้งไม่ถ้วนให้ได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร เขาควรต้องเอาตัวรอดได้ และถ้าเป็นไปได้ เราก็ยังอยากจะให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตทุก ๆ ด้านด้วยเช่นกัน

ในขณะที่ลูกยังเล็ก อย่างมากเราก็ทำได้แค่สนับสนุนให้เขาได้ทดลองทำหลายๆ อย่าง เพื่อให้เขามีโอกาสได้ค้นพบตัวเอง นั่นคงจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ที่พ่อแม่จะทำเพื่อลูกได้ อย่างน้อยก็ให้เราอุ่นใจได้ว่าเขาจะไม่ล้มเหลวในชีวิต ไม่ว่าเขาจะทำอาชีพอะไร

ท่านผู้อ่านสังเกตหรือไม่ว่า 2 ย่อหน้าสั้นๆ ที่ท่านเพิ่งอ่านจบไป ผมใช้คำว่า “อาชีพ” ถึง 2 ครั้ง และกล่าวถึง “ความสำเร็จในชีวิต” และ “ความไม่ล้มเหลวในชีวิต” ในแง่ที่ว่า หากเขามีอาชีพหรือหน้าที่การงานที่เลี้ยงตัวเขาได้ เราก็จะ “หายห่วง”

ผมอยากจะชวนท่านผู้อ่านคิดไปด้วยกันว่า จริงหรือไม่หากเขามีอาชีพการงานที่ดีแล้วเราจะหายเป็นห่วงเขาได้ ท่านลองถามตัวเองว่า ยังมีเรื่องอื่นอีกไหมที่จะทำให้คนเป็นพ่อแม่ยังต้องเป็นห่วงลูกอีก หากคิดให้ดี ผมเชื่อว่าท่านจะสามารถเขียนรายการที่จะทำให้ท่านเป็นห่วงลูกได้อีกหลายเรื่องเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเพื่อน เรื่องคู่ครอง เรื่องภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เรื่องมลภาวะและปัญหาหมอกควัน เรื่องสุขภาพ เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของอาชีพหรือหน้าที่การงาน แต่เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลย แล้วท่านคิดว่า เราจะต้องเตรียมตัวลูกของเราให้สามารถรับมือกับเรื่องเหล่านี้ไหม

Homeschool - บ้านเรียน - อนุบาล

 

ปัจจุบันมีผู้คนพูดถึงเรื่อง “ความยั่งยืน” หรือ “Sustainability” กันมาก ซึ่งเป็นเรื่องของการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชีวิตคนเราดำเนินไปได้ยาวนาน โดยไม่ทิ้งปัญหาไว้ข้างหลัง เนื่องจากโลกร้อนเลยรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เกิดจากการที่เราไม่รักษาสมดุล เรื่องนี้อาจมองได้ว่าเป็นปัญหาระดับโลก ระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน ระดับครอบครัว หรือ ระดับส่วนตัวก็ได้ กล่าวคือ เราอาจจะมีอาชีพหน้าที่การงานที่เลี้ยงตัวและทำเศรษฐกิจในครอบครัวของเราดี แต่เราอาจจะไม่ได้ให้ความอบอุ่นใกล้ชิดกับคนในบ้านเท่าที่ควร หรือละเลยจนอาจเกิดปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวขึ้นได้ หรือเราอาจจะลืมดูแลเอาใส่ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งภายในบ้านและรอบ ๆ บ้านของเรา จนอาจทำให้คนในบ้านเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เชื่อหรือไม่ว่า คนเราทุกวันนี้เป็นโรคภูมิแพ้กันมาก ซึ่งจริง ๆ แล้วเกิดจากสาเหตุที่ทุกคนมองข้าม นั่นก็คือการใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นสะสมจำนวนมากตามชั้นวางของ ใบพัดของพัดลม ช่องแอร์ หยากไย่บนฝ้าเพดาน ฯลฯ ซึ่งเราอาจจะละเลยคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่กลับพยายามหาหนทางรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ

Homeschool - บ้านเรียน - อนุบาล

ในการทำ Homeschool ให้ลูกของผม จึงตั้งต้นจากเรื่องของ “ความยั่งยืน” และผมนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ (17 SDGs Goals) ของสหประชาชาติมาเป็นกรอบคิด แล้วจึงจัดการเรียนรู้เชื่อมโยงเข้าไป สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อนี้ ได้แก่

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เชื่อมโยงกับกิจกรรมการเรียนรู้
1.     ขจัดความยากจน การงานอาชีพ ธุรกิจ เกษตรกรรม คหกรรม
2.     ขจัดความหิวโหย เกษตรกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3.     การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี สุขศึกษาและพลศึกษา
4.     การศึกษาที่เท่าเทียม ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์
5.     ความเท่าเทียมทางเพศ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
6.     การจัดการน้ำและสุขาภิบาล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
7.     พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
8.     การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ
9.     อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธุรกิจ
10.  ลดความเหลื่อมล้ำ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
11.  เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน ภูมิศาสตร์ สังคมศึกษา และวัฒนธรรม
12.  แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เกษตรกรรม เศรษฐศาสตร์
13.  การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
14.  การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตรกรรม
15.  การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตรกรรม
16.  สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
17.  ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภูมิศาสตร์ สังคมศึกษา และวัฒนธรรม

 

“กิจกรรมการเรียนรู้” ต่าง ๆ จะถูกผูกโยงเข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ที่พวกเขากำลังเรียน ว่ามันมีประโยชน์กับโลกอย่างไร มีประโยชน์กับประเทศชาติอย่างไร มีผลกระทบกับสังคมใกล้ตัวของเขาอย่างไร และสุดท้ายคือ เขาจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างไร เขาจะแก้ปัญหาเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างไร หรือจะเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้นได้อย่างไร

แน่นอนที่สุดว่า การจัดการเรียนรู้ให้ลูกแบบ homeschool เราไม่ต้องการจับเด็กมานั่งเรียนเป็นชั่วโมง ๆ อย่างในโรงเรียน เพราะนั่นคือเหตุผลหลักที่หลายครอบครัวตัดสินใจพาลูกออกมาจากบรรยากาศแบบนั้น เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ (Quality Learning) จะเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่เด็กมีความสนใจและมีความพร้อมจริง ๆ ภายใต้เงื่อนไขสภาพจิตใจและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเท่านั้น พ่อแม่ที่ทำ homeschool จะทราบเรื่องนี้ดีว่า เราไม่สามารถจะบังคับให้ลูกเรียนรู้เรื่องใด ๆ ได้ เราจะต้องรอจังหวะที่เหมาะสม จังหวะที่เด็กอยากจะรู้ หรือมีความสงสัยอยากจะถาม โอกาสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา และไม่สามารถจะคาดเดาได้ว่าวันนั้นลูกอยากเรียนรู้เรื่องอะไร แต่มันจะมีเวลาทองแบบนี้เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ และพ่อแม่จะต้องคอยจับสัญญาณนั้นให้ดี และจะต้องพร้อมที่จะ “ปล่อยพลังแสงแห่งปัญญา” ในเฉดสีที่ลูกกำลังอยากรู้ใส่ลูกอย่างทันท่วงที ก่อนที่ห้วงเวลาอันมีค่านั้นจะผ่านเลยไป

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจทำให้พ่อแม่หลายท่านมีความเห็นว่าผมเขียน “เว่อร์” เกินจริง หลายคนอาจเห็นแย้งว่าจะเป็นได้อย่างไรที่คนเราจะพร้อม “ปล่อยพลังแสงแห่งปัญญา” ใส่ลูกได้ทุกเฉดสีตลอดเวลาขนาดนั้น ในความจริงแล้ว ผมเองก็ยอมรับว่าการจะทำอย่างนั้นได้ มันก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่ถ้า “การปล่อยพลังแสงแห่งปัญญา” ที่เรากำลังกล่าวถึง หมายถึง “การสอนแบบปกติในโรงเรียน” แต่ถ้า “การปล่อยพลังแสงแห่งปัญญา” ที่เรากำลังกล่าวถึง หมายถึง “การอำนวยความสะดวก” หรือ “Facilitate” สนับสนุนให้ลูกเรียนรู้ผ่าน “กิจกรรมการเรียนรู้” ที่ให้เขาได้มีอิสระในการเลือก โดยมีเราเป็นผู้แนะนำ ก็น่าจะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น เช่น เมื่อใดที่ลูกอยากรู้ เราก็พาเขาไปดู พาเขาไปทำ ถ้าพาเขาไปสัมผัสประสบการณ์จริงไม่ได้ ก็ต้องพยายามหาสื่อการเรียนรู้ที่จะทำให้เขาได้เรียนรู้ใกล้เคียงกับของจริงที่สุด ดังนั้น คงจะดีไม่น้อย หากเราทำรายการ “กิจกรรมการเรียนรู้” หรือ “สถานที่แหล่งเรียนรู้” ต่าง ๆ เก็บไว้เป็นคลังสต๊อกเอาไว้ล่วงหน้า

Sensory Integration

 

หัวใจสำคัญของ 2 ย่อหน้าที่ผ่านมานี้ คือ การให้ลูกได้เรียนรู้ตามความสนใจของเขา ในเวลาที่เขาอยากรู้อยากเรียน โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ช่วยหรือผู้สนับสนุน อันนี้คือเรื่องของ “Learning to Learn” ซึ่งเป็นทักษะสำคัญแห่งศตวรรษนี้ เพราะในยุคที่เทคโนโลยีสามารถนำพาให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่มีจำนวนมากมายมหาศาลนี้ ทักษะในการค้นหาความรู้ที่ต้องการให้เจอ สามารถกลั่นกรองและวิเคราะห์ได้ว่าข้อมูลใดใช้ได้และใช้ไม่ได้ ตลอดจนสามารถนำข้อมูลมาสังเคราะห์เป็นบทสรุปหรือตอบโจทย์แก้ปัญหาให้เราได้ เป็นทักษะที่จำเป็น และลูกของเราควรต้องมี เพราะมีข้อมูลความรู้จำนวนมากรอเขาอยู่ในโลกกว้าง และเขาต้องรู้จักที่จะเรียนรู้ไปตลอดชีวิต (Life-long Learning) ของเขา จนมีคนกล่าวไว้ว่า ความรู้ที่มีอยู่ในตำราไม่ได้สำคัญอีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณหรือคุณภาพความทันสมัยแล้ว ความรู้ในตำราเทียบไม่ได้เลยกับความรู้ที่อยู่ในโลกไซเบอร์ เพียงแต่เราต้องสามารถดึงมันออกมาใช้ให้ได้ทันท่วงที

ปรากฏว่าการเรียนรู้ในปัจจุบันเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา เราสามารถเรียนอะไรก็ได้จากอาจารย์ที่อยู่ทุกมุมโลกทางอินเทอร์เนท ดังนั้นเรื่องของภาษาอังกฤษจึงเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเรามีข้อจำกัดในเรื่องภาษา เราก็ยิ่งจำกัดตัวเองในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่อยู่ในโลกกว้าง ดังนั้น ผมจะให้ความสำคัญกับเรื่องภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ผมให้ลูกเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามธรรมชาติ เช่น ให้ลูกการ์ตูนหรือดูหนังแบบไม่ต้องพากย์ไทยตั้งแต่แบเบาะ ให้เขาเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษแบบไม่ต้องแปล ตอนเขาเล็ก ๆ ผมไม่เคยบอกให้เขารู้ว่าโลกนี้มีหลายภาษา หรือสอนโดยวิธีบอกว่าคำนี้เป็นภาษาไทยแปลเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างนั้น เพราะผมคิดว่าการให้เขารู้สึกว่านี่ภาษาเรา นั่นภาษาอื่น มันจะทำให้เขารู้สึกแปลกแยก มองว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาของคนชาติอื่น ไม่ต้องให้ความสำคัญมากก็ได้

Homeschool - บ้านเรียน - อนุบาล

สิ่งที่ผมคิดว่าในการจัดการศึกษาให้ลูกแบบ homeschool เราจะต้องไม่ลืมเรื่องการเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้ สมองคิด (head) ลงมือปฏิบัติ (hands) และใส่หัวใจ (heart) ลงไปในทุก ๆ เรื่อง เพราะการทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิตหรือการทำงาน ล้วนต้องใช้ทั้ง 3 สิ่งนี้ จึงจะประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามเรื่องของการลงมือทำและการทำด้วยใจนั้น เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่เรื่องของการคิดนั้น ผมมีวิธีคิดที่น่าสนใจจะมานำเสนอ ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้กำลังได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง กล่าวคือ ทั่วโลกมีความคาดหวังว่าพลเมืองรุ่นใหม่ของเราจะมีวิธีคิดเหล่านี้ติดตัวพวกเขามา กล่าวคือ โลกใบนี้ไม่อาจเสียเวลาให้กับการลองผิดลองถูกที่มากเกินไปอีกแล้ว แต่มีคนผลิตวิธีการคิดที่ช่วยร่นระยะเวลาของการลองผิดลองถูกลง ซึ่งจะช่วยทำให้อัตราเร่งของการพัฒนาโลกใบนี้ของเราเร็วขึ้นไปอีก

การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เป็นกระบวนการใช้เหตุผลวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อการตัดสินใจ การฝึกคิดเชิงวิพากษ์นี้ ทำได้โดยการตั้งคำถามให้ลูกตอบ เพื่อพัฒนาไปสู่นิสัย “การตั้งคำถามกับตัวเอง” โดยมีหัวข้อและคำถามที่ให้ถกเถียงกับตัวเองอย่างเป็นกลาง 12 ประเด็น 14 คำถาม ดังต่อไปนี้

ประเด็น การตั้งคำถามกับตัวเอง
1.     ระบุประเด็นสำคัญได้ 1.  เรื่องนี้ มีประเด็นสำคัญว่าอย่างไร
2.     เปรียบเทียบความเหมือนกันและความแตกต่างกัน 2.  เรื่องนี้ มีอะไรเหมือน / ต่างกันอย่างไร
3.     ตัดสินใจได้ว่าข้อมูลใดใช้ได้หรือเกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ 3.  เรื่องนี้ มีข้อมูลอะไรอีกบ้าง ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
4.     ตั้งคำถามที่เหมาะสมได้ 4.  ถ้าให้ตั้งคำถามสำหรับเรื่องนี้ใหม่
จะถามว่าอย่างไร
5.   แยกแยะระหว่างความจริงกับความคิดเห็นได้ และตัดสินได้ว่าการกระทำใดเป็น การกระทำที่ สมเหตุสมผล 5.  เรื่องนี้ อะไรที่เป็น “ความจริง” และอะไรที่เป็นเพียง “ความคิดเห็น”

6.  การกระทำนี้ เป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลหรือไม่ อย่างไร

6.     ตรวจสอบความคงที่ได้ (Checking consistency) 7.  เรื่องนี้ มีอะไรที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เกิดขึ้นเสมอ ๆ ไม่แปรเปลี่ยน
7.     ระบุความคิด / สมมุติฐานที่แฝงไว้ (Unstated ideas) ได้ 8.  เรื่องนี้ มีความคิดอะไรแฝงอยู่ หรือมีความเป็นไปได้ว่าจะมีอะไรแฝงอยู่
8.     รู้ว่าอะไรเป็นการพูดแบบ Stereotype คือ การคิดถึงลักษณะของคนใดคนหนึ่งแล้วเหมารวมว่าคนอื่นๆ จะเป็นเช่นเดียวกัน 9.  เรื่องนี้ มีคำพูดใดเป็นการพูดแบบเหมารวมเอาเอง
9.     รู้ว่าข้อมูลใดเบี่ยงเบน (Bias) ข้อมูลใดเป็นการชวนเชื่อ หรือลำเอียง 10. ในเรื่องนี้ ข้อมูลใดมีอคติ เป็นการชวนเชื่อ หรือลำเอียง
10.  รับรู้ถึงค่านิยมที่แตกต่างกันและรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี 11. ในเรื่องนี้ อะไรเป็น “ค่านิยม” (แตกต่างกันได้ ไม่มีใครถูกใครผิด)

12. อะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง-ดีงาม และ อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง-ไม่ดีงาม

11.  ประเมินได้ว่าข้อมูลที่จำเป็นมีอะไรบ้าง  ต้องใช้ข้อมูลมากเพียงใด 13. เรื่องนี้ ข้อมูลที่จำเป็นมีเพียงพอหรือไม่ ยังขาดอะไร
12.  คาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้ (Consequences) 14. เรื่องนี้ คาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้นตามมา (Consequences) ว่าอย่างไร

Homeschool - บ้านเรียน - อนุบาล

การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เป็นกระบวนการคิดนอกกรอบ มองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อาจจะเป็นเรื่องใหม่เอี่ยมหรือดัดแปลงต่อยอดจากของเดิมก็ได้ ซึ่งการที่จะฝึกให้ลูกคิดแบบนี้ได้ เราจะต้องเปิดโอกาสให้ลูกมีพื้นที่ปลอดภัย กล้าแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องกลัวการถูกวิจารณ์ เพื่อให้ไอเดียของเขาพรั่งพรูออกมาอย่างอิสระ ผมอยากจะแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับวิธีการคิดริเริ่มสร้างสรรค์วิธีหนึ่ง ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากทั่วโลก นั่นก็คือ การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

การคิดเชิงออกแบบนี้ จากชื่อก็คงพอจะเดาได้ว่าเป็นกระบวนการคิดที่ใช้ในวงการนักออกแบบ เช่น สถาปนิก และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ล่าสุดได้รับการดัดแปลงให้นำมาใช้ในวงการอื่น ๆ นอกวงการออกแบบ ถูกพัฒนาจนกลายเป็นกระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหา (Problem Solving) ที่วงการนักคิด นักนวัตกรรม Startups นำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อออกแบบสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการและแก้ปัญหาของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงการออกแบบชีวิตของเราได้ด้วย

กระบวนการคิดเชิงออกแบบ มี 5 ขั้นตอน เริ่มจาก

(1) การเข้าอกเข้าใจถึงสภาพปัญหาของผู้คน จากสภาพปัญหากว้าง ๆ ไปถึงข้อมูลเชิงลึก เพื่อที่จะ

(2) ระบุประเด็น “ปัญหาที่แท้จริง” ออกมาให้ได้ว่า แท้จริงแล้วสภาพปัญหานั้นเกิดจากปัญหาอะไรกันแน่ จากนั้นจึงค่อย

(3) หาวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว และ

(4) สร้างแบบจำลองหรือสร้างสถานการณ์จำลองการแก้ปัญหานั้นขึ้นมา

เพื่อ (5) ทดสอบดูว่าแบบจำลองของเราสามารถแก้ปัญหานั้นได้จริงหรือไม่ หากมีปัญหาตรงจุดใดก็ให้ย้อนกลับไปแก้ไข ณ จุดนั้น จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

Finland - Books - Bilingual - Phonics

ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะนำเอาวิธีการคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการจัดการศึกษาแบบ homeschool ได้ไม่ยากนัก ทั้งนี้ วิธีการคิดเหล่านี้ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว เราสามารถผ่อนปรนและปรับกระบวนการให้เข้ากับสถานการณ์ได้เสมอ อาจเรียกว่าให้กลอนพาไปก็ได้

ท้ายที่สุด ไม่ว่าครอบครัวของท่านจะยื่นขออนุญาตจัดการศึกษา homeschool กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ แบบกลุ่มสาระหรือแบบกลุ่มประสบการณ์ ผมคิดว่าเราก็ต้องปรับแผนการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมตามความต้องการของลูกของเราตามสถานการณ์ บางโอกาสอาจจะให้ลูกเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ บางโอกาสอาจจะให้ลูกเรียนรู้จากหนังสือตำรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อาจจะทำให้เราไม่สามารถออกไปเรียนรู้ในสถานที่ต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัยเหมือนเคย เราอาจจะต้องมีการปรับกระบวนการ (Process) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แล้วมุ่งเน้นไปที่ “ผลลัพธ์ของการเรียนรู้” หรือ Learning Outcomes ที่จะเกิดขึ้นในตัวลูกของเราในแต่ละ “เป้าหมายคุณภาพผู้เรียนที่มุ่งหวัง” ที่เรากำหนดไว้ในแผนฯ เป็นสำคัญ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนันท์ภัสร์ ราษฎร์นิยม

 


**follow us**

เพจ : เลี้ยงลูกให้โตไปกับหนังสือ

Instragram : yimwhanfamily

เว็บไซต์ : www.yimwhanfamily.com

Youtube : Yimwhan Family

อีเมลล์ : [email protected]

Line Id : @yimwhanfamily

 

Yimwhan

Author: Yimwhanfamily

Yimwhan Family แบ่งปันเรื่องราวแม่มือใหม่เลี้ยงลูกเชิงบวก ที่จัดการศึกษาทางเลือกในแบบ Life Long Learning สร้างเด็กรักการอ่าน (Read to Grow) และท่องเที่ยวสไตล์เด็กและครอบครัว โดย Real Mom "แม่จิ๊บ" Working Mom ที่มีความฝัน และ Passion คือ "เลี้ยงลูกให้โตไปกับหนังสือ"  

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these <abbr title="HyperText Markup Language">html</abbr> tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

*