สวัสดีค่ะ
แม่จิ๊บได้รับคำถามมาหลายครั้งเกี่ยวกับโรงเรียนลูกค่ะ โรงเรียนที่ลูกเรียนเป็นไง? ควรเลือกแบบไหน?
คิดนานนะกว่าจะเขียน เพราะเรื่องโรงเรียนก็เป็นเรื่องส่วนตัวลูกด้วย และทัศนคติแต่ละบ้านก็ไม่เหมือนกันด้วย แต่อยากให้เป็นประโยชน์กับทุกบ้าน ขอแชร์ข้อมูลจากบ้านแม่จิ๊บนะจ๊ะ
อย่างที่เคยคุยกันว่าแม่จิ๊บให้ความสำคัญกับลูก 3 เรื่องค่ะ
- เรื่องอาหารการกิน ลูกได้กินอาหารที่มีประโยชน์ อร่อย มีความสุข โตตามวัย
- เรื่องสุขภาพลูก แม่จิ๊บทำประกันให้ลูกได้รับการรักษาที่ดี เราไม่ลำบากใจเวลาลูกป่วย วางแผนการเงินไว้ไม่กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย รวมถึงเราสามารถทำงานปกติได้แม้ลูกป่วย (เป็นแม่มนุษย์เงินเดือน)
- เรื่องเรียนลูก คือขอเป็นโรงเรียนที่ลูกเรียนแล้วมีความสุข สนุกกับการไปโรงเรียน โรงเรียนดึงศักยภาพที่โดดเด่นของลูกออกมาให้เค้ารู้ตัวตนว่าเค้าชอบอะไร ให้เค้าใช้จินตนาการสนุกสนาน
3 เรื่องที่สำคัญกับครอบครัวเรา แม่จิ๊บคงไม่สามารถจะบอกว่าโรงเรียนแบบนั้นดี แบบนั้นไม่ดีนะคะ
เพราะโรงเรียนที่ดีในความคิดแม่จิ๊บ…คือแบบที่เหมาะกับลูกเราและทัศนติของบ้านเราค่ะ
มาคุยกันก่อนเนอะ สำหรับระบบการศึกษาของไทย
- การศึกษาพื้นฐาน ก่อนประถมศึกษา (คือเด็กอายุ 3-6 ขวบ) เด็ก 3 ขวบนี่คืออนุบาล 1 นะคะ ถ้าเทียบกับฟินแลนด์ ฟินแลนด์ให้เด็กเข้าโรงเรียนตอน 7 ขวบค่ะ เขาให้ความสำคัญกับเด็กเล็กมาก เด็กควรได้อยู่กับพ่อแม่ มันไม่ใช่แค่การต่อสู้ดิ้นรนของพ่อแม่อย่างเดียว แต่คือสวัสดิการรัฐที่ให้ความสำคัญตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่คลอดได้รับสวัดิการดีๆ ได้ของขวัญจากรัฐบาล(รัฐบาลให้กล่องของขวัญที่มีของใช้พื้นฐานเด็กอ่อนครบถ้วนแบบน่ารักมาก) การจัดสิ่งแวดล้อมให้เด็กก่อนวัยเรียน การให้ความรู้พ่อแม่เพื่อจะได้มีประชาชนที่เติบโตอย่างมีคุณภาพ คุณแม่ลาคลอดได้หลายเดือนกว่าไทยมาก ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานๆ ส่วนที่ไทยเราการสนับสนุนเรื่องนี้ยังน้อยค่ะ เมื่อรัฐให้เราได้เท่านี้ เราจึงควรวางแผนชีวิตครอบครัว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
- การศึกษาระดับพื้นฐานขอเรียกว่าระบบ 6-3-3 ค่ะ คือ จบป.6 ใช้เวลา 6 ปี ระดับ ม.ต้น ใช้เวลา 3 ปี ระดับ ม.ปลาย ใช้เวลา 3 ปี (อาจเป็นสายสามัญหรืออาชีวะแล้วแต่ความสะดวก) แล้วเราจึงไปต่อระดับอุดมศึกษากัน
- ระดับอุดมศึกษา อาจจะ 4-6 ปี แล้วแต่หลักสูตร เมื่อเราเรียนมาถึงตรงนี้ เราก็จะมองเห็นอนาคตตัวเองว่าเราเรียนจบจะไปทำงานอะไร และในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่เรียนมาถึงระดับนี้แต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองจบออกไปจะเป็นอะไร
การศึกษามีหลายแบบด้วยกันค่ะ จะเรียนในระบบโรงเรียน หรือเรียนนอกระบบโรงเรียน หรือจะเป็นการศึกษาตามอัธยาศัยก็ได้ค่ะ..
แล้วแต่ความชอบและความเหมาะสมของเด็กและผู้ปกครองนะคะ การศึกษาทั้ง 3 แบบจริงๆแล้วก็ไม่ได้แยกออกจากกันเลยซะทีเดียว
- เรียนในระบบโรงเรียน ทั้งรัฐและเอกชน วัดการเรียนเป็นระบบเกรด เรียนเหมือนๆกันมาแยกสายวิทย์สายศิลป์ตอน ม.ปลายค่ะ บางคนบอกว่า เป็นระบบที่ออกข้อสอบให้กระต่าย ปลา ลิง นก ปีนต้นไม้ ทำข้อสอบเดียวกกันภายใต้ความสามารถที่ต่างกันของเด็ก (หลายบ้านจึงเลือกเรียนแบบอินเตอร์หรือโรงเรียนทางเลือกซึ่่งก็อยู่ในระบบนี้ด้วยค่ะ)
- เรียนนอกระบบโรงเรียน ที่เห็นภาพชัดเจน คือ Home School นั่นแหล่ะค่ะ เรียนรู้เองตามความชอบของเด็ก จัดห้องเรียนเอง จัดกิจกรรมเองหรือรวมกลุ่มเรียนรู้กัน คือเรียนโดยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้เรียน และมีการวัดผลด้วยค่ะ (แม่จิ๊บชอบแบบนี้นะคะ และเชียงใหม่ Home School ก็เข้มแข็งมากค่ะ)
- การศึกษาตามอัธยาศัย อันนี้ถ้าให้ชัดเจนก็คือ กศน.นั่นเอง เป็นระบบที่มีความยืดหยุ่น เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาไปโรงเรียนในแบบปกติ เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่าแบบแรก มีข้อสอบวัดเช่นกัน
เมื่อโจทย์บ้านเราอยากให้ลูกเรียนอย่างมีความสุข อยากได้โรงเรียนที่ไม่เน้นวิชาการเกินไป โรงเรียนทางเลือกจึงน่าจะตอบโจทย์ที่สุด ควบคู่กับทำ Homeschool ค่ะ เพราะเด็กในศตวรรษ 21 นี้ การเรียนรู้มันเปลี่ยนจากยุคพ่อแม่อย่างเรามากทีเดียว บ้านเราคิดว่า Home School เหมาะกับลูกที่สุด ถ้าลองพิจารณากระบวนการเรียนรู้ของเด็กในศตวรรษที่ 21 แล้ว สอดคล้องกับแนวทาง Home School มากทีเดียว เด็กในศตวรรษที่ 21 ควรมีการเรียนรู้ 5 ข้อ
1.Authentic learning การเรียนรู้ที่แท้จริงอยู่ในโลกจริงหรือชีวิตจริง (****เด็ก Home school มีกระบวนการเรียนรู้ข้อนี้โดดเด่นมากค่ะ เพราะเรียนรู้จากชีวิตจริง ทำจริงในชีวิต)
2.Mental Model Building การเรียนรู้วิธีการนำเอาประสบการณ์มาสั่งสม (เด็กที่ได้เรียนรู้ได้สั่งสม มีคลังความรู้ มีค่านิยมที่ดี หยิบคลังความรู้มาใช้ได้อย่างเหมาะสม)
3. Internal Motivation การเรียนรู้ที่แท้จริงขับดันด้วยฉันทะ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวคนไม่ใช่ขับดันด้วยอำนาจของครูหรือพ่อแม่ (*** เด็ก Home School เรียนรู้ตามความชอบ มุ่งไปตามความถนัด พ่อแม่ทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ของลูก )
4. Multiple Intelligence เด็กแต่ละคนมีความถนัดหรือปัญญาที่ติดตัวมาแต่กำเนิดต่างกัน รวมทั้งสไตล์การเรียนรู้ก็ต่างกัน จัดให้การเรียนรู้ส่วนหนึ่งเป็นการเรียนรู้เฉพาะตัว (***เด็กแต่ละคนมีความเฉพาะตัวมาก มีทักษะและความโดดเด่นที่ต่างกัน ถ้าสนับสนุนถูกต้อง เด็กทุกคนคืออัจฉริยะแน่ๆ แต่เราจะเห็นการเรียนรู้ทุกวันนี้ที่เด็กต้องเรียนแบบเดียวกัน ทำข้อสอบแบบเดียวกัน และวัดผลจากข้อสอบนั้น)
5. Social Learning การเรียนรู้เป็นกิจกรรมทางสังคม ออกแบบกระบวนการทางสังคมเพื่อให้ศิษย์เรียนสนุก และเกิดนิสัยรักการเรียน (โรงเรียนต้องไม่ใช่ยาเบื่อสำหรับเด็ก เรียนแบบมีความสุข สนุกที่ได้ค้นคว้า ได้เรียนรู้ ได้จินตนาการ)
เน้นเรียนแบบมีความสุข เรียนรู้จากการเล่น นี่แหล่ะที่บ้านเราต้องการ……………………..
เราเป็นเพียงพ่อแม่ธรรมดาๆ ที่อยากให้ลูกมีความสุขและค้นหาตัวเองเจอ..ได้ทำสิ่งที่ใช่..ได้เดินไปในเส้นทางที่ชอบ เท่านั้นเองค่ะ
ครั้งหน้าเรามาค้นหาความสามารถลูกโดยการใช้ “ทฤษฎีพหุปัญญา” ทฤษฎีนี้ว่าด้วยความสามารถเด็ก 8 ด้านค่ะ คือต่อให้คำนวณไม่ได้ ภาษาไม่โอ ศิลปะไม่เกง แต่ยังมีความสามารถอื่นๆซ่อนอยู่ในตัวนะคะ
อย่าตัดสินตัวเองหรือลูกแค่นี้ เราไม่ได้เก่งคำนวณ ภาษาไม่กระดิก แต่เราต้องเกิดมาพร้อมความสามารถพิเศษสักด้านแน่ๆ
ตอนหน้า แม่จิ๊บจะมาเล่าเรื่องทฤษฎีพหุปัญญาค่ะ ปิดท้ายวันนี้ด้วยคำพูดโดนๆจากคุณโจน จันได (หรือโจน บ้านดิน) ปราชญ์ด้านการเรียนรู้อีกท่านค่ะ แม่จิ๊บมีโอกาสได้ฟัง ขอนำมาแบ่งปันนะคะ
- โรงเรียนไม่ได้อยู่เฉพาะที่โรงเรียน มันอยู่ทุกที่…..เราจึงควรเรียนรู้ได้ทุกที่
- โลกไม่ได้ต้องการคนเรียนเก่ง แต่ต้องการคนสมองว่าง…เพื่อสร้างจินตนาการ
- หน้าที่ของครูคือสอนให้คนหาความรู้ สอนเครื่องมือและวิธีหาความรู้ ไม่ใช่สอนให้จำ ถ้าสอนให้เขาพบสิ่งที่เขาชอบมันจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ชีวิตเป็นเรื่องง่าย มีทางออกเสมอ ถ้าเราคิดแล้วยังหาทางออกไม่เจอ แสดงว่าเรายังคิดไม่สุด
Cr: โจน จันได
บทความนี้เขียนจากประสบการณ์ของแม่จิ๊บเอง เราแค่อยากให้ลูกมีความสุขกับการเรียน แต่คิดไม่ถึง ลูกจะทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ต้องขอบคุณเด็กๆเนอะ “โรงเรียนของลูกจึงเป็นโรงเรียนของเราได้เรียนรู้โรงเรียนที่มีชีวิตในทุกๆวันค่ะ” ชักจะยาวเกินไป ไปอ่านต่อตอน 2 นะคะ ถ้าเขียนแล้วจะแปะลิงค์ให้ตรงนี้ค่ะ
…………………………………………………..
**follow us** เพจ : เลี้ยงลูกให้โตไปกับหนังสือ Instragram : yimwhanfamily เว็บไซต์ : www.yimwhanfamily.com Youtube : Yimwhan Family อีเมลล์ : [email protected] Line Id : @yimwhanfamily